ลุยงานใหญ่ Tokyo Motor Show 2017 (ตอนที่ 5)
TOYOTA JPN TAXI แท็กซี่แห่งชาติญี่ปุ่น

ความเดิมเมื่อตอนที่แล้ว..หลังจากสาระแนกับตัวรถ แงะ แกะ ลูบคลำกันไปเป็นที่เรียบร้อย ก็ถึงเวลาลองนั่ง TOYOTA JPN TAXI แบบจริงจังซักที โดยครั้งนี้โตโยต้าจัดให้พิเศษ แบบไม่ให้คาใจ สำหรับสื่อมวลชนในกลุ่มประเทศเอเซียอาคเนย์ Southeast Asia ได้นั่ง TOYOTA JPN TAXI รุ่นใหม่จากโรงแรม Keio Plaza ในโตเกียว ไปยังสถานที่จัดงาน Pacifico Yokohama รวมระยะทางประมาณ 40 กิโลเมตร

ที่นั่งเบาะหน้า เรากวาดสายตาสำรวจไปทั่ว สะดุดตาตรงแผงแดชบอร์ดที่อลังการ มีปุ่ม และสวิตช์มากมาย เน้นการควบคุมตัวรถโดยคนขับเป็นหลัก ปุ่มควบคุมต่างๆ จะไปอยู่ใกล้มือผู้ขับขี่ ส่วนอุปกรณ์ภายในของแท็กซี่จะมีความแตกต่างกัน แล้วแต่บริษัทเจ้าของแท็กซี่จะติดตั้งมาให้ในแต่ละคัน เช่น ระบบเครื่องเสียง มิเตอร์บอกราคา ระบบนำทาง Navigation System และ GPS พวงมาลัยเป็นแบบมัลติฟังก์ชั่น มีการเพิ่มสวิตช์ไฟฉุกเฉินเอาไว้ที่ด้านขวา ด้านซ้ายเป็นปุ่มควบคุมหน้าจอ MID แดชบอร์ดฝั่งคนขับด้านขวาสุดออกจะแปลกตาไปสักนิด ติดตั้งชุดควบคุมระบบปรับอากาศในรถ แบบอัตโนมัติ หน้าตาคล้ายเครื่องคิดเลข ส่วนด้านล่างเป็นปุ่มเปิด-ปิด ระบบป้องกันการชน, ระบบเตือนรถออกนอกเลน, ระบบเปิดไฟสูงอัตโนมัติ, ปุ่มเปิดฝาถังเติมแก๊ส LPG และ ปุ่มเปิด-ปิดประตูสไลด์ไฟฟ้า

ชุดมาตรวัด แบ่งออกเป็น 2 จอ โดยส่วนแรกบอกความเร็ว เป็นแบบดิจิตอล ขนาดใหญ่สีขาวอ่านง่ายชัดเจน อีกหน้าจอจะบอกสถานะต่างๆ ของตัวรถ ทั้งระบบไฮบริด และข้อมูลการขับขี่ต่างๆของตัวรถ ด้านซ้ายมือของคนขับ เป็นเกียร์อัตโนมัติเหมือนทั่วๆไป P – R – N – D – B และมีปุ่มเปิด-ปิดไฟในห้องโดยสารส่วนหน้า, เปิด-ปิดไฟส่องสว่างในรถ, เปิด-ปิดระบบความคุมเสถียรภาพ, EV Mode และปุ่มปิดเสียงสังเคราะห์เตือนคนเดินถนน ขณะรถวิ่งด้วยมอเตอร์ไฟฟ้า (Vehicle Proximity Notification System) ส่วนด้านล่างเป็นปุ่มปรับระบบอุ่นเบาะผู้โดยสารตอนหน้า, เปิด-ปิดระบบปรับอากาศส่วนด้านหลัง และปุ่มเซ็นเซอร์กะระยะช่วยจอด

คราวนี้ข้ามมาสำรวจที่นั่งสำหรับผู้โดยสารตอนหลังบ้าง เป็นเบาะ 3 ที่นั่ง รู้สึกถึงความโปร่งโล่งไม่อึดอัด เพราะการออกแบบห้องโดยสารและพื้นที่เหนือศรีษะ กว้าง โล่งสบาย พื้นรถราบเรียบ บริเวณประตูสไลด์ ไม่มีขอบชายล่างของประตู ช่วยให้เข้า/ออกสะดวก พื้นที่ผู้โดยสารด้านหลังมีช่องเสียบชาร์จไฟ แบบ USB 2.1 A ให้ 2 ตำแหน่ง พร้อมไฟ LED ในห้องโดยสาร มีช่องแอร์สำหรับผู้โดยสารด้านหลังอยู่บนเพดานเหนือศีรษะ และสามารถปรับแรงลมได้เองจากสวิตช์ด้านหลัง สำหรับตัวเบาะนั่งหุ้มด้วยหนังสีน้ำตาล รองรับสรีระได้ทั้งผู้โดยสารที่มีขนาดตัวใหญ่และตัวเล็ก ที่ผมชอบมากที่สุดก็เห็นจะเป็นพนักพิงที่รองรับแผ่นหลังได้ดี และเบาะรองนั่งยาวกำลังดี รองรับต้นขาได้ดี นั่งได้ผ่อนคลาย สมแล้วที่ออกแบบมาเพื่อเป็นแท็กซี่ เอาใจผู้โดยสารด้านหลังจริงๆ

หลังจากสำรวจโลกผ่านเลนส์เรียบร้อยแล้ว ผู้โดยสารจริงๆก็คาดเข็มขัดนิรภัย ครบทุกตำแหน่ง (ถ้าไม่คาด คนขับจะไม่ออกรถเด็ดขาด) สถานที่ปลายทาง Pacifico Yokohama ถูกเซ็ตไว้แล้วจากระบบนำทาง คนขับเริ่มกดมิเตอร์โดยสาร เมื่อรถเคลื่อนตัวออกไปด้วยความเงียบ ในช่วงแรกตัวรถทำงานด้วยมอเตอร์ไฟฟ้า เหมือนรถไฮบริด HYBRID ทั่วไป ค่อนข้างนุ่มนวล วิ่งไปได้สักระยะ เครื่องยนต์ก็เริ่มทำงาน ช่วงของการตัดต่อกำลัง ระหว่างมอเตอร์ไฟฟ้ากับเครื่องยนต์ ทำได้ราบเรียบ มีแค่เสียงเครื่องยนต์เบาๆ ช่วงในตัวเมืองวิ่งได้อย่างนุ่มนวล ด้วยขนาดรถที่ไม่ใหญ่ ทำให้คล่องแคล่วเวลาเปลี่ยนเลน

เมื่อขึ้นทางด่วน เข้าช่อง ETC Card ที่มีอยู่ประจำรถ (การทำงานคล้ายๆกับ Easy Pass บ้านเรา นั่นแหละครับ) คนขับเริ่มใช้ความเร็วมากขึ้น ช่วงของการแซงรถช้าด้านหน้า สังเกตได้ว่าคนขับมีการเหยียบคันเร่งมากขึ้น ส่งผลให้เสียงเครื่องยนต์ดังมากขึ้นกว่าเดิม แต่ก็ไม่ถึงขนาดคราง หรือเค้น ตัวรถก็พุ่งไปด้านหน้าในความเร็วที่มากขึ้น จากการผลักดันของเครื่องยนต์และมอเตอร์ไฟฟ้า แต่ก็ไปแบบเรียบๆ อยากให้หลับตานึกกันดีๆนะครับ พี่แท็กซี่บ้านเค้า ขับกันแบบสุภาพมาก ขอย้ำ..สุภาพมาก ไม่ได้รีบร้อนอะไร การตอบสนองของเครื่องยนต์ขนาดนี้ถือว่ารับได้ และเพียงพอต่อการใช้งาน ขับในเมืองสบายๆ วิ่งทางไกลไปเรื่อยๆไม่รีบ เน้นประหยัดไม่ต้องแรง

สำหรับช่วงล่าง การตอบสนองก็เหมือนรถอเนกประสงค์ MiniMPV ทั่วไป เน้นความนุ่มนวล ช่วงล่างด้านหลังไม่ดีดเด้งเพราะมีน้ำหนักของถังก๊าซ LPG ถ่วงอยู่ รวมถึงถนนในญี่ปุ่น เรียบเนียนกว่าบ้านเรามาก ความเร็วในการเดินทางอยู่ที่ประมาณ 90 กิโลเมตรต่อชั่วโมง รถก็มั่นคงดี ไม่มีอาการวูบวาบ และที่สำคัญความเร็วเกินกว่านี้ คงไม่ได้ใช้บ่อยมาก เพราะมีการจำกัดความเร็วในเขตเมือง และบนทางด่วน ตามกฎหมาย
โชเฟอร์ที่ขับให้เราในวันนี้ หน้าตาเพลินๆ ขับไปฮัมเพลงไปด้วย เราก็พยามจะคุย แต่เค้าไม่ค่อยคุยกับเราเท่าไหร่นัก ได้แต่ยิ้ม และพยักหน้า คือผมจะบอกว่าผมปวดเยี่ยว บนทางด่วนมีจุดแวะเข้าห้องน้ำมั้ย พี่พยักหน้า ไอ้เราก็นึกว่ามี อั้นจนหน้าเขียว ตาเหลือง เพราะกรดเยี่ยวไหลย้อนมาขึ้นตาแล้ว พี่ก็ยังไม่จอด เราก็ถามไปอีกว่าพี่ครับ มีที่จอดแวะเข้าห้องน้ำมั้ย ทอยเล็ตๆ พี่แม่งก็พยักหน้า แต่แม่งก็ไม่จอดขับไปเรื่อยๆ โหยยยย..กูอยากจะบ้า

ส่วนการเก็บเสียง วิ่งในเมืองเงียบดี เสียงภายในห้องโดยสารเงียบใช้ได้ จะมีเสียงยางบดถนนนิดๆหน่อยๆ ไม่น่ารำคาญ เสียงลมตามขอบหน้าต่าง หรือด้านหน้ารถมีน้อย อาจจะเป็นเพราะกระจกมองข้างที่ถูกย้ายไปหน้ารถ เลยช่วยลดเสียงลมไปได้เยอะ
นั่งรถไปประมาณ 1 ชั่วโมง ก็ถึงที่หมาย Pacifico Yokohama รีบวิ่งลงไปฉี่ก่อน ไม่ไหวเจงๆ เสร็จแล้วมาถามราคาค่าเดินทางกับสื่อมวลชนที่นั่งมาด้วยกัน ระยะทาง 40 กิโลเมตร ทั้งค่าโดยสาร และค่าทางด่วน ETC Card รวมแล้ว 16,000 เยน คิดเป็นเงินไทยประมาณ 4,800 บาท ซึ่งก็เป็นเรื่องที่เข้าใจได้ เพราะรู้มาบ้างอยู่แล้วว่าค่าแท็กซี่ที่นี่ค่อนข้างโหด แต่ถ้าเทียบกันกับสิ่งที่เราได้รับจาก TOYOTA JPN TAXI คันนี้ ก็ถือว่าคุ้มค่าครับ

การได้มานั่ง TOYOTA JPN TAXI ในวันนี้ บอกเลยว่าทางรัฐบาลไทย และค่ายรถยนต์ไม่ใช่แค่โตโยต้า ควรจะลองนำมาคิดดูถึงความเป็นไปได้ และแนวทางของการทำให้เรื่องนี้เกิดขึ้นมาจริงๆ หรือไม่ อันดับแรกเลยก็คงต้องมองย้อนกลับมาดูเรื่องของมารยาทและการคัดเลือกผู้ที่จะมาขับแท็กซี่ในบ้านเรา แล้วตามด้วยเรื่องตัวรถเลยครับ
สุดท้าย หลายคนคงอยากทราบว่า ถ้าเกิดมีคนเอาเข้ามาขายในบ้านเรา ราคาอยู่ที่เท่าไหร่ เจ้า TOYOTA JPN TAXI มีให้เลือก 2 รุ่นย่อย (ราคายังไม่รวมภาษีของประเทศไทย)
Nagomi รุ่นย่อย ราคา 3,277,800 เยน (ประมาณ 983,340 บาท)
Takumi รุ่นท็อป ราคา 3,499,200 เยน (ประมาณ 1,049,760 บาท)
ขอขอบคุณ ฝ่ายประชาสัมพันธ์ บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด