
ฟอร์ด เรนเจอร์ รุ่นปรับโฉม ที่หลายคนต่างตั้งหน้าตั้งตารอ เปิดตัวไปอย่างเป็นทางการเมื่อช่วงกลางเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา ถือว่าเป็นรถกระบะในกระแสที่มีการปรับปรุง เปลี่ยนแปลงมากมายหลายจุด โดยเฉพาะในเรื่องของเครื่องยนต์และระบบส่งกำลัง ในครั้งนี้ทางทีมงาน 4x4Special ได้รับการเชิญจากทางฟอร์ดให้ไปทดลองขับในแบบ Group Test ตะลุยเส้นทางเลียบลำน้ำโขง เชียงราย-เชียงของ เกือบ 400 กิโลเมตร
เอาเป็นว่าไม่พูดกันมากเดี๋ยวจะเจ็บคอ .... มาเข้าเรื่องกันเลยว่า ความแตกต่างระหว่างของเก่า กับของใหม่ มีรายละเอียดอะไรบ้าง และของใหม่มันดีกว่าของเก่ายังไง เพราะผมว่าทุกท่านอยากรู้ตรงจุดนี้

• ทริปใหญ่กว่า 30 ชีวิต
เครื่องยนต์ใหม่ ... เล็ก ... จี๊ด ... เทคโนโลยีเพียบ
สำหรับเครื่องยนต์ใหม่ทั้ง 2 รุ่น ฟอร์ดทำการพัฒนาและออกแบบที่ยุโรป ซึ่งเป็นศูนย์กลางการผลิตเครื่องยนต์ดีเซลที่อุดมไปด้วยเทคโนโลยีใหม่ๆ มากมาย ที่อยากจะบอกให้ชัดเจนคือ ... เครื่องยนต์ดีเซลใหม่ทั้ง 2 รุ่น เป็นเครื่องยนต์บล็อกใหม่ พัฒนาขึ้นมาใหม่ สร้างใหม่ทั้งหมด

•เล็กลง เบาลง 213 แรงม้า แรงบิด 500
สำหรับรุ่นสูงสุดจะเป็นเครื่องยนต์ 2.0 Bi-Turbo จะเป็นแบบดีเซล 4 สูบ 2,000 ซีซี.พ่วงเทอร์โบคู่ทำงานร่วมกันระหว่าง High-Pressure (HP Turbo) เทอร์โบแรงดันสูง และ Low-Pressure (LP Turbo) เทอร์โบแรงดันต่ำกระบอกสูบ x ระยะช่วงชัก: 84.01 x 90.03 มิลลิเมตรอัตราส่วนกำลังอัด 16.5 : 1กำลังสูงสุด 213 แรงม้า (PS)ที่ 3,750 รอบต่อนาทีแรงบิดสูงสุด 500 นิวตันเมตรที่ 1,750-2,000 รอบต่อนาที
และอีกเครื่องยนต์จะเป็นขนาด เครื่องยนต์ 2.0 Turbo จะเป็นแบบดีเซล 4 สูบ 2,000 ซีซี. เทอร์โบ อินเตอร์คูลเลอร์ กำลังสูงสุด 180 แรงม้า (PS) ที่ 3,500 รอบ/นาที แรงบิดสูงสุด 420 นิวตันเมตร ที่ 1,750 – 2,500 รอบ/นาที

• บึกบึน ตามสไตล์ฟอร์ด
ระบบป้อนน้ำมันทั้งชุด ใช้งานของ Piezo Commonrail System หรือที่เรียกกันติดปากว่า PCR ส่วนประกอบสำคัญอันดับแรกก็คือ “หัวฉีด” ในครั้งนี้ Piezo มีการปรับเปลี่ยนหัวฉีดของเครื่องยนต์ตัวใหม่เป็นแบบ 8 รู (ของเดิม 6 รู) และตัวหัวฉีดผลิตจากผลึกเซรามิค ซึ่งมีประสิทธิภาพในการฉีดน้ำมันได้เร็ว และมีความถี่ในการฉีดสูงกว่าเดิมส่งผลให้การเผาไหม้หมดจด ที่สำคัญมีความทนทานสามารถรับแรงกระแทกที่เกิดจากการจุดระเบิดได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ต่อมาเป็น ปั๊มแรงดันสูง ทำหน้าที่สร้างแรงดันและการไหลของน้ำมันในระบบ โดยการทำงานด้วยปั๊มลูกสูบของ Piezo Commonrail System ที่มีมาตรฐานสูงใช้ได้กับน้ำมันดีเซลทุกชนิด (แต่เท่าที่คุยกับวิศวกร เจอกับน้ำมันดีเซลบ้านเราอาจจะต้องมีการบำรุงรักษามากกว่าปกติ)
รางน้ำมันแรงดันสูง เป็นอุปกรณ์ที่จำเป็นที่มีแรงดันคงที่ และกักเก็บน้ำมันเชื้อเพลิงที่เข้ามารอในรางสำหรับการอัดฉีดครั้งต่อไปเพื่อจ่ายน้ำมันไปที่หัวฉีด ซึ่งระบบ Piezo Commonrail System ที่อยู่ในเครื่องยนต์ตัวใหม่นี้ สามารถรับแรงดันน้ำมันเชื้อเพลิงสูงสุงจากรุ่นเดิม 1,800 บาร์ สูงขึ้นเป็น 2,200 บาร์ และสุดท้ายปลายทางคายคาร์บอนไดอ๊อคไซด์ในไอเสียออกมา 200 กรัมต่อกิโลเมตร ตรงตามค่ามาตรฐานเป๊ะ

• มุมมองที่ดูแกร่ง
นอกจากนี้ ในตั้วเครื่องยนต์ใหม่ทั้ง 2 รุ่น ยังมีการปรับปรุงอีกหลายจุด ยกตัวอย่างเช่น ... เปลี่ยนมาใช้สายพานไทม์มิ่ง แทนโซ่แบบของเดิม ช่วยให้การทำงานของเครื่องยนต์นุ่มนวล เสียงเครื่องยนต์เบาลง ยืดอายุการใช้งานของสายพานไทม์มิ่งหลัก ด้วยการใช้สายพานเส้นเล็กอีกเส้น เป็นตัวช่วยในการกวาดน้ำมันเครื่องขึ้นมาหล่อลื่นสายพานเส้นหลัก (Belt-in-oil Primary Drive) , ฝาครอบเครื่องยนต์ทำจากโฟมช่วยดูดซับเสียงและลดแรงสะเทือน (NVH : Noise Vibration Hashness) , ฝาครอบเทอร์โบฝั่งคอมเพรสเซอร์ ระบายความร้อนด้วยน้ำ , ลูกสูบที่ทำจากอลูมิเนียมยังได้รับการทำหล่อซ้ำที่ขอบของแอ่งหัวลูกสูบ (Bowl Edge Re-Melt) เพื่อช่วยเพิ่มความทนทานสำหรับเครื่องยนต์ทีมีกำลังอัดสูง

• สะดวกสบาย เพียงแค่บิด
เทอร์โบคู่ ... เล็กดันก่อน ... ใหญ่อัดส่ง
สำหรับเครื่องยนต์ตัวใหม่ของ RANGER มีการเพิ่มพลังของเครื่องยนต์ด้วยการเซ็ทอัพเทอร์โบคู่ ที่ได้รับการออกแบบเพื่อความทนทาน วัสดุภายนอกเป็นโลหะอัลลอยคุณภาพสูง สามารถทนต่อความร้อนจากไอเสียได้ถึงเกือบ 1,000 องศา
สำหรับการทำงานของระบบ Bi-Turbo ของ New Ford Ranger เริ่มต้นด้วยเทอร์โบตัวแรก เป็นเทอร์โบตัวเล็กทำงานที่รอบเครื่องยนต์ต่ำถึงกลาง ซึ่งจะถูกจัดวางตำแหน่งอยู่ด้านบน และเป็นแบบเทอร์โบแปรผัน (หรือ VG Turbo) แรงดันสูง รอบจัด สร้างแรงบิดมหาศาลขณะออกตัว จากนั้นเมื่อถึงช่วงรอบเครื่องยนต์ 1,500-2,000 รอบต่อนาที จะส่งต่อให้เทอร์โบตัวใหญ่ที่วางอยู่ด้านล่าง ซึ่งเป็นแบบ Fix ไม่แปรผัน ทำงานร่วมกันทั้ง 2 ลูก เพื่อช่วยเพิ่มอัตราเร่ง และการตอบสนองที่เต็มประสิทธิภาพ และในรอบสูงเทอร์โบตัวเล็กจะหยุดการทำงาน จะยังคงเหลือแต่เทอร์โบลูกใหญ่ที่ช่วยสร้างแรงม้าในรอบสูง ส่งต่อไปจนสุดกำลังของเครื่องยนต์...

• SYNC 3 ที่รองรับภาษาไทยแบบเต็มรูปแบบ
เกียร์ 10 สปีด ... ซอยถี่ ... ทนทาน ... แก้ปัญหาของเดิม
อีกหนึ่งสุดยอดเทคโนโลยีที่มาคู่กันกับเครื่องยนต์ตัวใหม่ ก็คือ ระบบส่งกำลังแบบอัตโนมัติทอร์คคอนเวอร์เตอร์ 10 สปีด ที่ทาง Ford ได้แชร์ความรู้และผลิตภัณฑ์ร่วมกับ General Motors โดยที่ฟอร์ดใช้เกียร์แบบ 10 สปีดตัวนี้มาตั้งแต่ปี 2015 ซึ่งมีอยู่ในตัว Ford F-150 , F150 Raptor และ Ford Edge และยังมีการแชร์เกียร์แบบ 10 สปีดนี้ในรถ Chevrolet Camero ZL1 , Chevrolet Tahoe และอีกหลายรุ่น ซึ่งเกียร์ 10 สปีดตัวนี้ ผลิตอยู่ในทั้ง 2 โรงงานคือ Ford Livonia Transmission ที่รัฐ Michigan และ General Motors Hydra-Matic ที่รัฐ Michigan เช่นกัน
ในส่วนของชิ้นส่วนเกียร์ตัวใหม่นี้ ผลิตจากเหล็กกล้าและอะลูมิเนียมอัลลอย พร้อมวัสดุคอมโพสิท ที่มีความแข็งแรง และมีน้ำหนักที่เบาลงกว่าเดิม นอกจากนี้ยังได้มีการออกแบบปั๊มน้ำมันเกียร์ใหม่ ที่เป็นแบบใบพัดแปรผันเยื้องศูนย์ (Off-AxisVariable Displacement Vane) ช่วยลดการสูญเสียของแรงบิด ลดเสียงรบกวนและแรงสั่นสะเทือน (NVH) และด้วยระบบแปรผันที่ออกแบบมาใหม่นี้ ช่วยให้การปรับการจ่ายน้ำมันเกียร์ให้เหมาะสมกับความต้องการในทุกรอบเครื่องยนต์ ทั้งความเร็วต่ำและความเร็วสูง ซึ่งเป็นการแก้ไขปัญหาเรื่องของระบบการไหลเวียนน้ำมันเกียร์จากเกียร์เดิมแบบ 6 สปีด ได้อย่างชัดเจน

• เพิ่มความมันส์กันตรงนี้
และนอกจากนี้ยังมีการออกแบบระบบกรองน้ำมันเกียร์ประสิทธิภาพสูง พร้อมทั้งยังเลือกใช้น้ำมันเกียร์ชนิดพิเศษ ที่มีค่าความหนืดต่ำและมีอายุการใช้งานที่ยาวนานกว่าเดิม จากการปรับปรุงตรงจุดนี้ จะช่วยลดการสึกหรอ ลดการปนเปื้อน ของน้ำมันเกียร์และระบบการทำงานในชุดเกียร์ เพิ่มความทนทานและเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานของเกียร์ให้ดีกว่าระบบเกียร์อัตโนมัติ 6 สปีดตัวเดิม
ชัดเจนทุกรายละเอียด ... ทั้งเครื่องยนต์และเกียร์
อ่านมาถึงตรงนี้ ก็น่าจะชัดเจนในทุกข้อสงสัย และข้อกังวล สำหรับคนที่เป็นเจ้าของ Ranger อยู่แล้วและอยากจะเปลี่ยนเป็นรุ่นใหม่แต่ยังไม่แน่ใจ และท่านที่กำลังอยากจะเป็นเจ้าของ Ranger ใหม่ ในเรื่องของการปรับปรุง และเปลี่ยนแปลงเพื่อให้ทุกอย่างสมบูรณ์ ทั้งในเรื่องของเครื่องยนต์ และเกียร์ 10 สปีด เพราะฉะนั้น มั่นใจได้ว่าทั้งเครื่องยนต์และเกียร์ตัวใหม่ 10 สปีดนี้ ไม่ได้ถูกนำมาทดลองเป็นครั้งแรกในบ้านเรา แต่ถูกผลิตและทดสอบการใช้งานมาพอสมควรแล้ว จนเป็นที่ยอมรับถึงความทนทาน และตอบสนองการใช้งานได้ทุกรูปแบบ รวมถึงการชี้ให้เห็นได้อย่างชัดเจน จากการที่เครื่องยนต์และเกียร์ตัวนี้ถูกบรรจุลงใน Ford Rapter และนำไปลุยทุกสภาพการใช้งานมาแล้วเกือบครึ่งโลก ..... เลิกมโนกันไปเองได้เลยนะครับ

• ทางฝุ่นลุยได้สบาย
บททดสอบบนเส้นทางเกือบ 400 กิโลเมตร
สำหรับการทดลองขับของทีมงานในครั้งนี้ เราขอพูดถึงรุ่นสูงสุด Double Cab 2.0L Bi-Turbo Wildtrak 4×4 10AT ราคา 1.265 ล้านบาท ที่เป็นตัว ขับเคลื่อน 4 ล้อ อัตราส่วนกำลังอัด 16.5 : 1 แรงม้าสูงสุด 213 แรงม้า ที่ 3,750 รอบต่อนาทีแรงบิดสูงสุด 500 นิวตันเมตร ที่ 1,750-2,000 รอบต่อนาที มาพร้อมเกียร์อัตโนมัติ 10 จังหวะ
ความรู้สึกแรกตอนออกตัวเครื่องยนต์และเกียร์ตอบสนองได้รวดเร็วตามเท้าที่กดลงไป อัตราเร่งออกตัวต่อเนื่องดี การเร่งแซงที่ความเร็วปานกลางและความเร็วสูง ไปแบบนุ่มนวล ไม่เร้าใจอย่างที่คิดไว้ แต่ก็เข้าใจว่า เครื่องเล็ก ซอยเกียร์ถี่ เน้นใช้งานให้หลากหลายมากกว่าที่จะเน้นแรง

• ซัดเต็ม กระจายเลยครับ
การเปลี่ยนเกียร์ขึ้น/ลง ออกทางนุ่มนวล ชิด...ถี่ ไม่กระชาก ความเร็วสัมพันธ์กับการเปลี่ยนเกียร์ ไล่เปลี่ยนขึ้นเกียร์สูงไปตามจังหวะการขับขี่ ขับใช้งานปกติ ที่ความเร็ว 100 กม./ชม. รอบเครื่องยนต์ 1,600 รอบ/นาที เกียร์อัตโนมัติอยู่ตำแหน่งเกียร์ 9 ถ้าไล่ขึ้นไปถึงเกียร์ 10 รอบเครื่องอยู่ที่ 1,500 รอบ/นาที
ส่วนการกดเร่งแซงแบบ Kick Down เกียร์ฉลาดมาก สามารถคำนวณความเป็นไปได้ และความสัมพันธ์ระหว่างรอบเครื่องกับความเร็ว จนสามารถลดเกียร์ลงได้ทีละ 3 ตำแหน่ง มาอยู่ที่เกียร์ 7 ซึ่งอยู่ในอัตราทดเกียร์ 1:1 รอบสวิงขึ้นเกือบ 3,000 ซึ่งเป็นตำแหน่งเกียร์และรอบเครื่องยนต์ที่ให้พลังของแรงบิดจากเครื่องยนต์มากที่สุด ความเร็วดึงขึ้นต่อเนื่อง แล้วก็ไล่เปลี่ยนเกียร์สูงขึ้นไปตามลำดับ

• ถอยจอดอัตโนมัติ .... มีดีในรถกระบะ
ส่วนเรื่องของอัตราการสิ้นเปลืองน้ำมันเชื้อเพลิง อ่านจากข้างบน ความเร็ว 100 กม./ชม. รอบเครื่องอยู่ที่ 1,500 รอบ/นาที คงต้องมีคนคิดเหมือนกันแน่นอนว่าต้องประหยัด เพราะรอบเครื่องยนต์ต่ำมาก ผมก็อยากรู้เหมือนกัน เลยพยามลองไล่หาดูจังหวะของรอบเครื่องยนต์ ขับช่วงแรกไม่สามารถทำได้ เพราะมีเร่งแซง มีการใช้ความเร็วสูง มีติดไฟแดง อัตราสิ้นเปลืองเฉลี่ย 10.8 กิโลเมตร/ลิตร ผมเองก็ยังตกใจ ดูจะกินอยู่พอสมควรกับการใช้ความเร็วสูง แต่ก็เข้าใจได้เพราะขับแบบรุนแรงกว่าการใช้งานจริงทั่วไป ช่วงหลังออกนอกเมือง เดินทางยาวๆ รอบเครื่องยนต์นิ่งๆ ความเร็วที่ประมาณ 100-120 ทำได้ดีที่สุดประมาณ 15.8 กิโลเมตรต่อลิตร ก็ถือว่าเป็นตัวเลขที่สวยงามอยู่พอสมควร
ในมุมมองของผู้เขียน สำหรับเครื่องยนต์กับเกียร์ใหม่ ต้องบอกว่าถูกพัฒนาไปอีกระดับ สำหรับเครื่องยนต์ดีเซลยุคใหม่ เน้นมลพิษต่ำลง อัตราสิ้นเปลืองเชื้อเพลิงที่ดีขึ้นจากขนาดเครื่องยนต์ที่เล็กลง และที่สำคัญคือการบรรจุเทคโนโลยีต่างๆ เข้าไปมากมาย เพื่อให้ได้สมรรถนะที่ดีขึ้น ถือว่าเป็นการปรับปรุงที่ตอบโจทย์ในทุกด้านอย่างครบถ้วนทีเดียว

• ระบบเบรกอัตโนมัติ ... ลดอุบัติเหตุได้มากทีเดียว
ช่วงล่าง ... นุ่ม ... หนึบ ... ฟีลลิ่ง SUV
รถที่ทางทีมงานได้ขับ เป็นตัวถัง 4 ประตู Double Cab ที่เน้นการโดยสารมากกว่าบรรทุกของ ช่วงล่างได้มีการปรับเซ็ทใหม่มาเพื่อเน้นความนุ่มนวล แต่ก็ยังมีอาการกระด้างตามสไตล์ของกระบะอยู่บ้างพอให้รู้สึกได้ การยึดเกาะถนนทำได้ดีพอสมควร เข้าโค้งหนักๆ ด้วยความเร็วสูงเกินปกติ ยังไม่ออกอาการโยน หรือ ย้วย ให้เห็น แต่จะมีเสียงยางร้องบ้างนิดหน่อย ซึ่งก็เป็นเรื่องธรรมดา ถือว่าตอบสนองได้ดีในหลายรูปแบบการใช้งาน แต่... รู้สึกอยู่นิด ตรงพวงมาลัยเพาเวอร์ไฟฟ้าออกอาการ ... เบาไปหน่อย ... ที่ความเร็วสูง ทำให้รู้สึกหวิวๆ อยู่ในบางจังหวะ ส่วนระบบเบรก ตอบสนองการชะลอรถ และหยุดรถได้ตามมาตรฐาน
ระบบความปลอดภัย ... เอาไปเต็มๆ
ใน New Ford Ranger จะมีระบบความปลอดภัยใหม่ที่ตอดตั้งเพิ่มมาให้ มากมาย ทั้งเทคโนโลยีช่วยในการขับอัจฉริยะ หรือ Advanced Driving Assist Technology ซึ่งมีเฉพาะรุ่น Wildtrak 4×4 ประกอบด้วย Autonomous Emergency Braking System , Adaptive Cruise Control , Forward Collision Warning System , Lane Keeping System , Driver Alert System และ Auto High Beam Control

• ข้ามโขง เข้าเชียงของ
งานนี้ฟอร์ดจัดให้ลอง 2 ระบบความปลอดภัยด้วยกัน ระบบแรก AEB ใช้เป็นครั้งแรกในรถกระบะ ระบบจะช่วยเบรกอัตโนมัติเพื่อหลีกเลี่ยงการชนด้านหน้า สามารถตรวจจับได้ทั้งรถและคน เริ่มทำงานที่ความเร็ว 3.6 กิโลเมตรต่อชั่วโมงขึ้นไป และไม่จำกัดความเร็วสำหรับรถ ส่วนคนจะทำได้ที่ความเร็วไม่เกิน 62 กิโลเมตรต่อชั่วโมง เมื่อเข้าใกล้รถด้านหน้าหรือคนเดินถนนมากเกินไป และระบบตรวจพบว่าอาจมีการชน จะแจ้งเตือนด้วยสัญญาณไฟบนหน้าปัดพร้อมเสียงเตือน ถ้าผู้ขับไม่ตอบสนองระบบจะเบรกกระทั่งรถหยุดให้โดยอัตโนมัติ และเบรกค้างไว้ 3 วินาที จากนั้นผู้ขับจะต้องเหยียบเบรกเอง

• มีให้เลือกตามความต้องการ
อีกระบบก็คือ Active Park Assist ครั้งแรกในรถกระบะเช่นกัน เป็นระบบที่ยกมาจาก Focus และ Everest เมื่อจะหาที่จอดด้านข้าง ก็จัดการเปิดระบบ เซ็นเซอร์หน้าจะตรวจหาช่องว่างในระยะ 1.5-2 เมตร ขณะสแกนหาช่องจอด เมื่อเจอช่องจอดก็ทำตามคำแนะนำจากจอที่คอนโซลกลาง ระบบจะควบคุมพวงมาลัยให้เองทั้งการถอยเข้าจอด และการจอดรถให้ตรง ส่วนผู้ขับควบคุมเบรก คันเร่ง และการเปลี่ยนเกียร์ ถ้าจับพวงมาลัยขณะระบบทำงาน จะเป็นการยกเลิกระบบทันที ในการถอยจอดนั้นมีข้อจำกัด ความเร็วต้องไม่เกิน 30 กิโลเมตรต่อชั่วโมง และขณะเข้าจอดต้องใช้ความเร็วไม่เกิน 10 กิโลเมตรต่อชั่วโมง

• ทางเรียบก็แรงใช้ได้เหมือนกัน
ส่วนของเล่นอื่นๆก็มี ระบบตัดเสียงรบกวน Active Noise Cancellation มีไมค์โครโฟนรับเสียงบนเพดาน 2 ตัว หน้าและหลัง และกล่องควบคุม ระบบจะส่งคลื่นเสียงที่ตรงข้ามกับเสียงรบกวน ผ่านทางลำโพงหลักในรถเพื่อกำจัดเสียงรบกวน ส่วนของเล่นที่ชอบมากเป็นพิเศษ สำหรับรุ่น Limited ขึ้นไป จะมีระบบผ่อนแรงปิดฝากระบะท้าย เมื่อเปิดฝาท้ายทอร์ชั่นบาร์จะถูกบิดตัว และเมื่อปิดฝาท้ายทอร์ชั่นบาร์จะบิดกลับ ช่วยลดน้ำหนักตอนปิดฝาท้ายได้เยอะเลย ของแบบนี้ ชายชอบ หญิงขับกระบะยิ่งชอบมากเลยขอบอก

• โค้งไม่ต้องกลัว ใส่ไปเลย
ส่วนอีกระบบก็เป็น SYNC 3 ที่รองรับภาษาไทยแบบเต็มรูปแบบ มาพร้อมจอสัมผัสขนาด 8 นิ้ว อ่านหน้าจอและสั่งงานเป็นภาษาไทย ทั้งการ โทรออก เล่นเพลง เปิดแอร์ รองรับ Apple Car Play และ Android Auto มาพร้อมระบบช่วยโทรฉุกเฉิน Emergency Assistance ซึ่งเจ้าของรถต้องทำการลงเทียน และซิงค์กับระบบให้เรียบร้อยก่อน ระบบถึงจะทำงาน การทำงานของระบบนี้ เมื่อรถเกิดอุบัติเหตุรุนแรงถึงขั้นแอร์แบ็กทำงาน หรือระบบตัดน้ำมันเชื้อเพลิงทำงาน ระบบจะโทรไปยังหมายเลข 1669 ศูนย์นเรนทร โดยจะแจ้งให้คนในรถทราบก่อนโทรออก ถ้าต้องการโทรออกก็ให้กดปุ่มเพื่อตอบรับการทำงานของระบบ หลังจากนั้นระบบจะโทรออกไปยังศูนย์นเรนทร และแจ้งให้ผู้ขับขี่คุยกับเจ้าหน้าที่ของศูนย์ ถ้าผู้ขับขี่ไม่เป็นอะไรมาก ไม่ต้องการรับความช่วยเหลือ จะยกเลิกต้องทำภายใน 10 วินาที ระบบนี้จะไม่มีปุ่มโทรออก เพื่อป้องกันการโทรโดยไม่ตั้งใจ ส่วนในกรณีที่เกิดอุบัติเหตุจนกระทั่งแอร์แบ็กทำงาน หรือระบบตัดน้ำมันเชื้อเพลิงทำงาน และตัวผู้ขับขี่สลบ หรือไม่สามารถตอบรับการทำงานของระบบได้ ภายใน 10 วินาที ระบบจะทำการโทรออกเองอัตโนมัติ

• ลุยได้เต็มที่
จบการทดลองขับ New Ford Ranger ไปเรียบร้อย ระหว่างนั่งเครื่องบินกลับจากสนามบินแม่ฟ้าหลวงเชียงราย ก็นึกย้อนไปถึงความรู้สึกตอนขับรถกระบะยุคแรกๆ ที่ต้องทำใจทั้งเรื่องของความแข็งกระด้างของช่วงล่าง การตอบสนองของเครื่องยนต์ที่อืด ... และความไม่สะดวกสบายอีกมากมาย แต่พอมาตอนนี้ ทุกอย่างที่พูดมา ถูกปรับปรุงเปลี่ยนแปลงไปหมดแล้ว ในกระบะยุคนี้
คำถามสุดท้ายที่อาจจะคาใจใครหลายคน สำหรับ New Ford Ranger รุ่นสูงสุด กับราคา 1.265 ล้านบาท ถามว่าคุ้มมั้ย ผมแนะนำ ลองนึกย้อนกลับไปตอนคุณขับรถกระบะยุคแรกดูอย่างที่ผมนึก แล้วลองทบทวนสิ่งที่ผมเพิ่งจะเขียนจบไป หรือออกไปลองขับเองที่ศูนย์บริการใกล้บ้าน ผมว่าคุณคงคิดไม่ต่างจากผมหรอกครับ ใช่มั้ย....

ขอบคุณ บริษัท ฟอร์ด เซลส์ แอนด์ เซอร์วิส (ประเทศไทย) จำกัด