Nissan Leaf ชาร์จแบตฯ ครั้งเดียวเที่ยวเพลินรอบกรุงเทพฯ

เมื่อช่วงต้นปีที่ผ่านมา นิสสัน ประเทศไทย เปิดเผยราคา LEAF รถยนต์พลังงานไฟฟ้ารุ่นล่าสุด ด้วยราคาที่เร้าใจ 1,990,000 บาท มาพร้อมการรับประกันตัวรถ 3 ปี หรือ 100,000 กิโลเมตร รับประกันชุดระบบไฟฟ้าของรถ 5 ปี หรือ 100,000 กิโลเมตร และรับประกันแบตเตอรี่ไฮบริด 8 ปีหรือ 160,000 กิโลเมตร ส่งมอบรถได้ตั้งแต่เดือนเมษายน 2562 ที่ผ่านมา
ล่าสุดเมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมา นิสสัน จัดการทดลองขับ LEAF อย่างเป็นทางการครั้งแรกในประเทศไทย ภายใต้แนวคิด “เรียบง่ายอย่างอัศจรรย์ หรือ Simply Amazing” โดยมีธีมงานที่ชื่อว่า ‘rEVolution’ เพื่อลองฟังก์ชั่นการใช้งานต่างๆ รวมทั้งคลายข้อสงสัยเรื่องระยะการขับในการชาร์จแบตเตอรี่แต่ละครั้ง ด้วยการวางเส้นทางที่หลากหลาย ทั้งขับผ่านการจราจรที่ติดขัดในเมือง และลองสมรรถนะด้านต่างๆ บนทางโล่ง

กิจกรรมครั้งนี้จัดขึ้นที่ จีแลนด์ พระราม 9 นอกเหนือจากการขับทดสอบรถแล้ว ทางนิสสันได้จัดพื้นที่ ‘rEVolution education’เพื่อนำเสนอข้อมูลเชิงลึกเกี่ยวกับการออกแบบของนิสสัน ลีฟ ใหม่ ระบบขับเคลื่อนของรถยนต์ไฟฟ้า และรูปแบบการชาร์จรถยนต์ไฟฟ้าทั้ง 3 แบบ โดยในงานจัดสรรพื้นที่เป็น 4 โซน ประกอบด้วย นิสสัน ลีฟ Simply Amazing นิสสัน อิเล็คทริค คาเฟ่ บูธถ่ายภาพ นิสสัน อิเล็คทริค และสถานีชาร์จนิสสัน ลีฟ
นิสสัน ลีฟ ใหม่ ใช้แบตเตอรี่ลิเธียมไอออน ความจุ 40 กิโลวัตต์ชั่วโมง (kWh) มอเตอร์ไฟฟ้ารุ่น EM57 มีกำลังสูงสุด 110 กิโลวัตต์ (kW) และแรงบิดสูงสุด 320 นิวตันเมตร เร่งจาก 0- 100 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ใน 7.9 วินาที เมื่อแบตเตอรี่เต็ม 100% สามารถขับได้ระยะทางสูงสุด 311 กิโลเมตร ตามมาตรฐาน NEDC (New European Driving Cycle)

ช่วงเช้าอุ่นเครื่องเบาๆ ด้วยกิจกรรม GYMKHANA แบบห้ามแตะเบรก ด้วยการทดลองใช้ ระบบ e-Pedal ที่สามารถใช้ควบคุมความเร็วรถทั้งการเร่งและเบรกด้วยคันเร่งเพียงอย่างเดียวเมื่อปล่อยคันเร่ง รถจะชะลอความเร็วโดยอัตโนมัติจนกระทั่งหยุดนิ่งได้โดยสมบูรณ์ แม้ว่าจะจอดรถค้างบนเนิน ก็ไม่จำเป็นต้องเหยียบแป้นเบรก ด้วยอัตราการชะลอความเร็วประมาณ 0.2G โดยผู้ขับไม่จำเป็นต้องขยับเท้าออกจากคันเร่งไปยังเหยียบเบรกเพื่อชะลอหรือหยุดรถ ระบบนี้จะช่วยลดความเหนื่อยล้าและความเครียดจากการขับท่ามกลางการจราจรที่ติดขัด เพราะจะช่วยให้ผู้ขับใช้แป้นเบรกน้อยกว่าการขับรถยนต์ทั่วไปถึงกว่า 90 เปอร์เซ็นต์
รอบแรกนั่งดูเส้นทาง โดยมีเจ้าหน้าที่ขับให้พร้อมให้คำแนะนำเพื่อดูเส้นทางและประเมินระยะเบรกของระบบ e-Padal รอบที่ 2 ทดลองขับเอง และรอบที่สามเป็นการขับแบบจับเวลา ความรู้สึกในการขับพบว่า นิสสัน ลีฟ ให้อัตราเร่งที่ดีมาก เพราะแรงบิดขนาด 320 นิวตัน-เมตร ที่มาตั้งแต่ 0 รอบต่อนาที ทำให้เร่งได้ดีตั้งแต่ความเร็วต่ำ ช่วงทางตรงเร่งขึ้นแบบนุ่มนวลแต่มีพลังและที่สำคัญคือ เสียงเงียบมาก ช่วงล่างเซตมาค่อนไปทางหนึบแน่น ไม่ย้วย น้ำหนักของพวงมาลัยพอเหมาะ ไม่เบา แต่ก็มีความคล่องตัวสำหรับการใช้งานในเมือง

นิสสัน ลีฟ สามารถชาร์จแบตเตอรี่ได้ 3 วิธี ประกอบด้วย:
1. การชาร์จจากไฟบ้านปกติ (standard outlet charging) เช่นเดียวกับการเสียบปลั๊กเพื่อชาร์จสมาร์ทโฟน ซึ่ง 80-90 เปอร์เซ็นต์ของเจ้าของรถนิสสัน ลีฟ ส่วนใหญ่ เลือกที่จะชาร์จรถยนต์ที่บ้าน โดยใช้เคเบิลอเนกประสงค์ (EVSE cable) ที่มาพร้อมกับรถยนต์ โดยส่วนมากเป็นการชาร์จแบบข้ามคืน ใช้เวลาชาร์จประมาณ 12-16 ชั่วโมง
2. การชาร์จจากอุปกรณ์ชาร์จติดผนัง หรือ wall box charging สามารถชาร์จไฟฟ้าให้เต็มได้ภายในระยะเวลา 6-8 ชั่วโมง
3. การชาร์จแบบด่วน หรือ Quick Charge เป็นการชาร์จไฟฟ้ากระแสตรง โดยใช้เวลาชาร์จเพียงแค่ 40-60 นาทีเพื่อชาร์จให้แบตเตอรี่มีความจุที่ 80 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งส่วนใหญ่มักมีติดตั้งในพื้นที่ที่ชาร์จสะดวก เช่น ห้างสรรพสินค้า หรือที่สาธารณะต่าง
ข้อมูลการชาร์จเพิ่มเติม nissan.co.th/experience-nissan/Nissan-EV/EV-charger-type


สำหรับค่าใช้จ่ายต่อกิโลเมตรของรถพลังงานไฟฟ้า ขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย โดยเฉลี่ยแล้วจะอยู่ที่ประมาณ 0.7-1 บาท ต่อกิโลเมตร อีกหนึ่งข้อกังวลของผู้ที่สนใจรถพลังงานไฟฟ้าคือ แบตเตอรี่ของระบบไฮบริด สำหรับนิสสัน ลีฟ สามารถแยกเปลี่ยนเป็นเซลส์ได้ ไม่จำเป็นต้องเปลี่ยนยกชุดเสมอไป ค่าใช้จ่าย ณ ปัจจุบันหลักหมื่นบาท และเมื่อถึงเวลาที่เจ้าของรถต้องรับผิดชอบค่าเปลี่ยนแบตเตอรี่เอง คือ อีก 8 ปีข้างหน้า ค่าใช้จ่ายในการเปลี่ยนแบตเตอรี่ก็จะลดลงอีก เพราะเทคโนโลยีที่แพร่หลายมากขึ้น และเมื่อมีการผลิตมากขึ้น ต้นทุนต่อหน่วยก็จะลดลงด้วย
เมื่อเสร็จสิ้นกิจกรรมในช่วงเช้า รถที่ใช้ในการขับ Gymkhana จะถูกชาร์จแบตเตอรี่ให้เต็มอีกครั้ง ในระหว่างพักทานมื้อกลางวัน แม้แบตฯ จะเหลือมากกว่า 90 เปอร์เซ็นต์ก็ตาม อิ่มแล้วต่อด้วยกิจกรรมในช่วงบ่าย เป็นการขับไปตามสถานที่ต่างๆ ที่กำหนด ซึ่งมีทั้งหมด 5 จุด ประกอบด้วย: ฟอร์จูนทาวน์ชั้นดาดฟ้า ทดลองพละกำลังของเครื่องยนต์เมื่อต้องขับขึ้นเนินชันๆ เพื่อขึ้นไปดาดฟ้าชั้น 10 ทำกิจกรรมทดลองระยะเบรกของระบบ e-Padal กันอีกครั้ง อีก 4 สถานที่ที่เหลือคือ ลานจอดรถ Hard Rock สยามสแควร์, Warehouse 30 เจริญกรุง, Riva Floating Café นครปฐม, ช่างชุ่ย บางพลัด และกลับมาที่จุดหมายปลายทาง G Tower เพื่อทานมื้อเย็นร่วมกัน ระยะทางรวมทั้งหมดประมาณ 105 กิโลเมตร ดูเหมือนไม่ไกล แต่จะเจอรถติดช่วงอยู่ในเมือง ทำให้ใช้พลังงานไฟฟ้าในแบตเตอรี่ไปค่อนข้างเยอะ



ตระเวนรอบกรุงกว่า 100 กิโลเมตร แบตฯ เหลือกว่า 50 เปอร์เซ็นต์
การขับในโหมด ECO จะช่วยประหยัดพลังงานได้มาก เพราะเมื่อปิดไม่ใช้งานโหมด ECO แล้ว รถจะตอบสนองดีขึ้นแบบคนละคัน ทดลองด้วยการกดคันเร่งเท่าเดิม ความเร็วเท่าเดิม แล้วปิดโหมด ECO รถจะเพิ่มความเร็วขึ้นอีกนิด ขับสนุก เร่งสะใจ จนยากที่จะอดใจไม่กดคันเร่งหนักๆ ตัวรถสามารถรองรับความเร็วระดับ 140-150 กิโลเมตรต่อชั่วโมงได้อย่างสบาย แต่ก็ต้องแลกกับการใช้ไฟฟ้าที่มากขึ้นด้วย สังเกตจากชุดมาตรวัด ระยะทางที่ขับได้และปริมาณไฟฟ้าของแบตเตอรี่จะลดลงอย่างรวดเร็ว แต่ถ้ารู้ว่าวันนี้จะขับระยะทางเท่าไร ก็ไม่ต้องกังวลมากนัก อย่างครั้งนี้เผื่อเหลือเผื่อขาดไว้เกิน 3 เท่า เพราะขับได้ 300 กว่ากิโลเมตร แต่ใช้งานจริงแค่ 100 กิโลเมตรเท่านั้น ซึ่งหลังจากฝ่าฟันสภาพการจราจรที่ติดขัดมาค่อนวัน กับระยะทางรวมประมาณ 100 กิโลเมตร เมื่อกลับมาถึงจุดหมายปลายทาง ชุดมาตรวัดแสดงให้เห็นว่ายังเหลือไฟฟ้าอีกประมาณ 55 เปอร์เซ็นต์ กับระยะทางที่ยังขับได้อีก 150 กิโลเมตร ถ้าใช้งานในเมืองวันละ 200 กิโลเมตร น่าจะเอาอยู่โดยไม่ต้องชาร์จระหว่างวัน


สรุป
นิสสัน ลีฟ ถูกออกแบบมาเพื่อเป็นรถพลังงานไฟฟ้าตั้งแต่เริ่มต้น ไม่ใช่การนำรถยนต์สันดาปภายในมาปรับให้เป็นรถพลังไฟฟ้า ทุกอย่างจึงถูกออกแบบมาให้มีความเหมาะสมลงตัวกับการเป็นรถไฟฟ้า สำหรับตลาดเมืองไทยราคาของ นิสสัน ลีฟ ดูจะเป็นอุปสรรคสำคัญ ราคาแตะ 2 ล้านบาท กับตัวรถที่อยู่ในกลุ่มคอมแพค และค่าใช้จ่ายหลังหมดระยะรับประกัน ส่วนเรื่องระยะทางการใช้งาน ความสะดวกในการชาร์จแบตเตอรี่ ทั้งจำนวนสถานี และเวลาที่ใช้ในการชาร์จ น่าจะเป็นเรื่องรองลงไป เพราะรถพลังงานไฟฟ้า คงไม่ใช่รถคันแรกและคันเดียวของครอบครัว แต่น่าจะเป็นรถที่คนอยากลองใช้รถพลังไฟฟ้า ดังนั้นราคาจึงเป็นตัวแปรสำคัญ


ด้านคุณภาพของตัวรถ ไม่มีข้อข้องใจ แม้รูปลักษณ์ภายนอกจะดูเรียบง่าย ไม่แตกต่างจากนิสสันรุ่นอื่น แต่ก็ดีในแง่ไม่ตกเป็นเป้าสายตา การออกแบบภายนอกโดยรวมดูลงตัว ภายในเน้นโทนสีดำในแบบที่ชอบเป็นการส่วนตัว การออกแบบดูทันสมัย ฟังก์ชั่นการใช้งานครบ อุปกรณ์มาตรฐานบางอย่าง ถ้าตัดออกได้ก็น่าจะช่วยให้ราคาถูกลงได้บ้าง เพื่อให้คนเข้าถึงรถพลังไฟฟ้าได้ง่ายขึ้น ความกว้างขวางของห้องโดยสารอยู่ในระดับรถคอมแพค นั่งหลังไม่อึดอัดกับความสูงระดับ 170 เซนติเมตร ที่เก็บสัมภาระด้านหลังพึ่งพาได้จริง


เมื่อชาร์จแบตเตอรี่เต็ม ตามสเปคจะใช้งานได้ประมาณ 300 กิโลเมตร เหลือเฟือสำหรับการใช้งานในเมืองแบบขับจากบ้านไปที่ทำงานแล้วขับกลับ แต่ถ้าต้องใช้รถทั้งวันก็ต้องประเมินระยะทางให้ดี ส่วนการขับทางไกลต้องวางเส้นทางที่ผ่านสถานีชาร์จ และอยู่ในระยะไม่เกิน 200-250 กิโลเมตร ต่อการชาร์จเต็ม 1 ครั้ง เผื่อเหลือเผื่อขาดไว้มากหน่อย รวมทั้งเผื่อเวลารอขณะชาร์จแบตเตอรี่ไว้ด้วย รถพลังไฟฟ้ากับเมืองไทย นับว่ามาเร็วกว่าที่คิด แต่จะเข้าถึงคนกลุ่มใหญ่ได้ คงต้องมีการสนับสนุนด้านราคา เพิ่มความสะดวกในการชาร์จแบตเตอรี่ และคลายข้อกังวลเรื่องค่าใช้จ่ายเมื่อต้องเปลี่ยนแบตเตอรี่

นิสสัน ลีฟ ใหม่ มาพร้อม Nissan Intelligent Mobility ซึ่งเป็นจุดมุ่งหมายของนิสสันในการเปลี่ยนแปลงรูปแบบการขับขี่ยานยนต์ มี 3 ด้านหลัก ได้แก่ เทคโนโลยีการขับขี่อัจฉริยะ (Intelligent Driving) เทคโนโลยีพลังการขับเคลื่อนอัจฉริยะ (Intelligent Power) และเทคโนโลยีการเชื่อมต่ออัจฉริยะ (Intelligent Integration) เทคโนโลยีการขับขี่อัจฉริยะ (INTELLIGENT DRIVING) ที่โดดเด่นในลีฟ ใหม่ คือ อี-เพดัล (e-Pedal) และนิสสัน เซฟตี้ ชิลด์ (Nissan Safety Shield) e-Pedal เป็นอุปกรณ์มาตรฐานใหม่สำหรับรถยนต์พลังงานไฟฟ้า เพื่อเพิ่มความสะดวกให้ผู้ขับในการออกตัว เร่งความเร็ว ชลอความเร็ว หยุดนิ่ง และควบคุมตัวรถให้อยู่กับที่ด้วยการใช้แป้นคันเร่งเพียงอย่างเดียว เป็นนวัตกรรมที่สามารถเปลี่ยนรูปแบบการขับได้อย่างสิ้นเชิง ด้วยอัตราการชะลอความเร็วที่สูงถึง 0.2G เพียงยกเท้าออกจากคันเร่ง ตัวรถจะลดความเร็วจนหยุดนิ่งได้อย่างนุ่มนวล โดยไม่จำเป็นต้องแตะแป้นเบรก เทคโนโลยี ทำให้ผู้ขับไม่ต้องยกเท้าจากแป้นคันเร่งเพื่อเหยียบแป้นเบรก เมื่อต้องการชะลอความเร็วหรือหยุดรถ ซึ่งช่วยลดความเมื่อยล้าและเพิ่มความเพลิดเพลินในการขับ
จากผลสำรวจของนิสสันในประเทศญี่ปุ่น ยุโรป และสหรัฐอเมริกา แสดงให้เห็นว่าระบบ e-Pedal ของนิสสัน ลีฟ ช่วยลดจำนวนการเหยียบแป้นเบรกขณะเดินทางในการจราจรที่ติดขัด แม้ว่าแป้นเบรกจะได้รับการใช้งานเช่นเดิม เมื่อต้องมีการเบรกอย่างกะทันหัน แต่ e-Pedal ก็สามารถช่วยให้ผู้ขับสามารถใช้แป้นคันเร่งเพียงอย่างเดียวในกว่า 90 เปอร์เซ็นต์ของการขับ
นิสสัน ลีฟ ใหม่ ติดตั้งเทคโนโลยีด้านความปลอดภัยขั้นสูง ได้แก่ เทคโนโลยีเตือนการชนด้านหน้า (Forward Collision Warning: FCW) เทคโนโลยีช่วยเบรกฉุกเฉิน (Forward Emergency Braking: FEB) กล้องอัจฉริยะมองภาพรอบทิศทาง (Intelligent Around View Monitor: IAVM) พร้อมเทคโนโลยีเตือนวัตถุเคลื่อนไหวรอบคัน (Moving Object Detection: MOD) เทคโนโลยีช่วยควบคุมเสถียรภาพขณะเข้าโค้ง (Active Trace Control: ATC) และเทคโนโลยีช่วยเตือนเมื่อเหนื่อยล้าขณะขับขี่ (Driver Attention Alert: DAA)

เทคโนโลยีพลังการขับเคลื่อนอัจฉริยะ (INTELLIGENT POWER)
หัวใจหลักของเทคโนโลยีพลังการขับเคลื่อนอัจฉริยะในลีฟ ใหม่ คือระบบขับเคลื่อนพลังงานไฟฟ้า (e-powertrain) ซึ่งเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงาน พร้อมกับมีแรงบิดและพละกำลังที่สูงขึ้น ระบบขับเคลื่อนพลังงานไฟฟ้ารุ่นใหม่มอบสมรรถนะที่ต่อเนื่อง และเร้าใจด้วยการส่งกำลังที่ 110 กิโลวัตต์ มากกว่าลีฟ เจนเนอเรชั่นก่อนหน้า 38 เปอร์เซ็นต์ มีแรงบิดเพิ่มขึ้น 26 เปอร์เซ็นต์เป็น 320 นิวตันเมตร ส่งผลให้มีอัตราเร่งที่ยอดเยี่ยมยิ่งขึ้นโดยมีอัตราเร่งจาก 0-100 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ในเวลาเพียง 7.9 วินาที
นิสสัน ลีฟ ใหม่ สามารถขับได้ระยะทางไกลขึ้น ด้วยชุดแบตเตอรี่ลิเธียม-ไอออน ชุดใหม่ขนาด 40 กิโลวัตต์ชั่วโมง (kWh) ให้ระยะทางขับตามมาตรฐานการวัดค่าไอเสียและอัตราสิ้นเปลือง NEDC (New European Driving Cycle) ที่ 311 กิโลเมตร เพียงพอสำหรับการใช้งานในเมือง
แบตเตอรี่ที่ได้รับการพัฒนาและออกแบบให้มีความจุพลังงานที่ดีขึ้น โดยยังมีขนาดเท่าเดิม ชุดแบตเตอรี่ดังกล่าวมีมิติเท่าเดิมทุกด้านเหมือนกับลีฟ รุ่นก่อนหน้า การปรับปรุงใหม่นี้ เกิดขึ้นภายในโครงสร้างแต่ละเซลล์ในแบตเตอรี่ลิเธียม-ไอออนชนิดอัดซ้อน (laminated lithium-ion battery) ทำให้มีความหนาแน่นของพลังงานเพิ่มขึ้น 60 เปอร์เซ็นต์เมื่อเทียบกับรุ่นปี 2010 อีกหนึ่งพัฒนาการทางวิศวกรรมที่สำคัญของแบตเตอรี่ลิเธียม-ไอออนชุดนี้คือการเพิ่มประสิทธิภาพวัสดุขั้วไฟฟ้า พร้อมการปรับปรุงเคมีใหม่ ทำให้มีความหนาแน่นของพลังงานสูงขึ้น พร้อมกับเพิ่มความทนทานของแบตเตอรี่ทั้งในขณะชาร์จและคลายประจุไฟ

เทคโนโลยีการเชื่อมต่ออัจฉริยะ (INTELLIGENT INTEGRATION)
ระบบ Vehicle-to-grid ของแบตเตอรี่ของนิสสัน ลีฟ ใหม่ สามารถสะสมพลังงานให้มากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้จากพลังงานส่วนเกินในเวลากลางวัน เพื่อนำกระแสไฟฟ้ามาใช้งานภายในบ้านช่วงกลางคืน การเชื่อมต่ออัจฉริยะของรถยนต์พลังงานไฟฟ้าจะเปลี่ยนภูมิทัศน์ด้านพลังงานอย่างสิ้นเชิง ทำให้เจ้าของรถลีฟ จะได้รับประโยชน์ต่างๆ จากบริษัทพลังงานที่ต้องการสร้างโครงข่ายไฟฟ้าที่มีความเสถียร เพื่อรองรับความต้องการใช้พลังงานไฟฟ้า โดยผู้ใช้งานลีฟ สามารถชาร์จไฟเข้าสู่แบตเตอรี่รถยนต์ในช่วงเวลากลางคืน ซึ่งเป็นช่วงที่มีอัตราค่าไฟฟ้าต่ำสุดในบางประเทศ เพื่อนำมาใช้ในช่วงกลางวันเพื่อช่วยลดค่าใช้จ่ายด้านพลังงาน
นอกจากนี้ช่องเสียบสายชาร์จไฟบริเวณด้านหน้ารถได้รับการออกแบบใหม่เพื่อให้มีความสะดวกมากยิ่งขึ้น โดยเจ้าของรถสามารถเสียบสายชาร์จโดยไม่ต้องก้มตัวลงมาเหมือนรุ่นก่อน ด้วยหลักการออกแบบตามหลักสรีรศาสตร์ของนิสสัน แสดงให้เห็นว่าช่องเสียบสายชาร์จไฟใหม่ที่ถูกติดตั้งในระดับ 45 องศา ทำให้ผู้ใช้งานที่มีระดับความสูงต่างกันสามารถเสียบสายชาร์จไฟได้อย่างสะดวก


นิสสัน ลีฟ ใหม่ มีวางจำหน่ายในสีแบบทูโทนภายใต้ตัวถังสีขาว Brilliant White Pearl และด้านบนหลังคาสีดำ Super Black ราคา 1,990,000 บาท สนใจข้อมูลเพิ่มเติมเชิญได้ที่ www.nissan.co.th/vehicles/new-vehicles/leaf ●