ReadyPlanet.com
dot




TOYOTA IN TOKYO MOTORSHOW 2019 ตอนที่ 4 Freedom of Movement article

TOYOTA  IN TOKYO MOTORSHOW 2019 ตอนที่ 4

Freedom of Movement

ต่อเนื่องกันมาถึงตอนที่ 4 สำหรับการเดินทางไปเยี่ยมชมงาน TOKYO MOTORSHOW 2019 เรื่องราวในตอนนี้ทางโตโยต้าพาสื่อมวลชนทั้งหมด ไปดูการพลิกโฉมใหม่หมดของโตโยต้า เพื่อมุ่งสู่การเป็นผู้นำในเรื่องของการขับเคลื่อนระดับโลก ที่ Toyota Research Institute - Advanced Development หรือ TRI-AD ตั้งอยู่ที่ตึก Nihonbashi Muromachi Mitsui อยู่ที่เขต ชูโอ ในกรุงโตเกียว อยู่ใกล้ย่านธุรกิจการค้า กินซ่า สะอาด สวยงาม และสงบ น่านั่งจิบกาแฟมากกว่าขึ้นตึกไปเยี่ยมชมสถานที่ซะอีก 555…  

สำหรับ Toyota Research Institute - Advanced Development หรือ TRI-AD ทางโตโยต้าตั้งเป้าที่จะให้เป็นศูนย์กลางการค้นคว้าและพัฒนา ทำงานควบคู่ไปกับสายการผลิต เพื่อเร่งในการพัฒนาและเผยแพร่ผลิตภัณฑ์รุ่นใหม่ ที่มีความสามารถในการขับเคลื่อนด้วยตนเอง โดยเริ่มดำเนินการเมื่อเดือนมีนาคม 2561 ด้วยความร่วมมือระหว่าง Toyota , Aisin , Denso และ Toyota Research Institute (TRI) จากสหรัฐอเมริกา การมาสร้าง TRI-AD ที่นี่ สิ่งที่ดีก็คือช่วยลดระยะเวลาและช่วยให้สะดวกต่อการทำงานอย่างต่อเนื่องในเรื่องของการค้นคว้าที่กระทำโดย สถาบันค้นคว้า Toyota สหรัฐอเมริกา ให้เข้าสู่กระบวนการผลิตให้เร็วที่สุด และสามารถแนะนำออกสู่ตลาดได้ในเร็วยิ่งขึ้น

เราขึ้นมาที่ห้องสัมมนา และได้รับการต้อนรับจาก Mr. Gill Pratt ตำแหน่ง CEO – Toyota Research Institute และ Fellow – Toyota Motor Corporation ผู้นำทีมพัฒนาการวิจัยระดับโลกของเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์และระบบการขับเคลื่อนอัตโนมัติ โดย Mr. Gill Pratt กล่าวว่า “โตโยต้าตระหนักถึงความสำคัญในการพัฒนาเทคโนโลยีใหม่ๆ เพื่อเสริมความสามารถให้กับมนุษย์ มิใช่เพื่อทำหน้าที่แทนมนุษย์ ทั้งนี้ หุ่นยนต์ที่มีความสามารถในการช่วยเราทำหน้าที่ หรือยานยนต์ที่ช่วยให้ไม่เกิดการชนขณะขับ จะสร้างประโยชน์ให้กับปัจเจกบุคคลและให้กับสังคม เทคโนโลยีที่ช่วยทำให้ผู้สูงอายุยังสามารถอาศัยในบ้านตนเองได้อย่างมีเกียรติ หรือทำให้เรามีความสุขยิ่งกว่าเคยไปกับการขับเคลื่อนส่วนบุคคล จะก่อให้เกิดคุณประโยชน์ทางด้านอารมณ์ความรู้สึกอย่างใหญ่หลวง ยิ่งไปกว่านั้น หากมีทั้งสองสิ่งผสานกัน ประโยชน์ที่ได้รับทางด้านอารมณ์และทางกายภาค จะช่วยก่อให้เกิดความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับเทคโนโลยี ที่จะเติมเต็มการใช้ชีวิตของมนุษย์”

Mr. Gill Pratt CEO Toyota Research Institute , Fellow Toyota Motor Corporation

นอกจากนี้เรายังได้รับเกียรติจาก Dr. James Kuffner ตำแหน่ง CEO , Toyota Research Institute – Advanced Development (TRI-AD) พูดคุยให้เราฟังถึงเรื่องของการพัฒนาเทคโนโลยี โดยเน้นเรื่องการพัฒนายานยนต์ขับเคลื่อนอัตโนมัติ ตั้งแต่ขั้นตอนการพัฒนา การใช้เทคโนโลยีต่างๆ เช่น RADICAL – Robust Autonomous Driving Incorporating Cameras And Learning ซึ่งเป็นระบบที่ไม่ต้องป้อนแผนที่ล่วงหน้า ทดลองการใช้งานทั้งแบบเสมือน คือการทดลองโดยระบบที่ทำงานในคอมพิเตอร์ และนำไปติดตั้งในรถต้นแบบเพื่อทดลองบนถนนจริง เพื่อให้แน่ใจว่าระบบมีความเสถียรและปลอดภัย ซึ่งผลลับที่ออกมาก็เป็นไปในทางที่ดี

Dr. James Kuffner CEO Toyota Research Institute – Advanced Development (TRI-AD)

และอีกท่านหนึ่งคือ Mr.Nobuhiko Koga ตำแหน่ง Chief Officer , Frontier Research Center ท่านนี้มาที่มาพร้อมกับหุ่นยนต์ส่วนตัว HSR-Human Support Robot เพื่อโชว์ประกอบกับการอธิบาย ในเรื่องแนวคิดที่จะนำหุ่นยนต์มาเพื่อเป็นผู้ช่วยของมนุษย์สำหรับกิจกรรมต่างๆ อย่างในการอธิบายของ Mr.Nobuhiko น้องหุ่นยนต์ก็จะเดินตามเพื่อรอเสริฟน้ำ ดูแล้วก็น่ารักดี นอกจากนี้ HSR ยังสามารถถูกควบคุมได้จากระยะไกล โดยมีใบหน้าและเสียง ปรากฏบนหน้าจอได้ Mr.Nobuhiko ยังกล่าวอีกว่าในงานมหกรรมกีฬาโอลิมปิกและพาราลิมปิก ก็จะมีการนำหุ่นยนต์ในรูปแบบนี้ไปใช้ในหลายส่วนในงานด้วย ซึ่งผมมองว่าเป็นสิ่งที่ดี และเป็นความชัดเจนในเรื่องของการใช้แนวคิดหุ่นยนต์เพื่อเป็นผู้ช่วยของมนุษย์ให้เป็นจริง

Mr.Nobuhiko Koga Chief Officer , Frontier Research Center

ปิดท้ายสำหรับเรื่องของการสัมนาด้วยการขึ้นพูดของ คุณ Maki Kobayashi ตำแหน่ง Executive Director of Communications and Engagement Bureau กล่าวถึงความคืบหน้าและการเตรียมความพร้อมสำหรับการเป็นเจ้าภาพการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกและพาราลิมปิก 2020 ที่ทางโตโยต้าได้เตรียมยานพาหนะที่ไร้มลพิษไว้รองรับ เพื่อให้เป็นไปตามแนวคิด Freedom of Movement” โดยลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมด้วยการใช้ยานพาหนะที่ขับเคลื่อนด้วยไฟฟ้าและ Fuel Cell และมีการเตรียมสถานที่ต่างๆ เพื่อให้ผู้พิการเดินทางได้อย่างสะดวกสบายที่สุด และที่สำคัญที่สุด และเป็นแนวคิดที่ผมชอบมากเป็นพิเศษ คือการนำเอาวัสดุเหลือใช้พวกชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ไปรีไซเคิลและเอามาใช้ทำเหรียญรางวัล และการใช้พลาสติกรีไซเคิลทำแท่นรับรางวัล ซึ่งถือว่าเป็นการใช้แนวคิดที่สอดคล้องกับสิ่งที่โตโยต้ากำลังพยายามทำอยู่

Maki Kobayashi Executive Director of Communications and Engagement Bureau

หลังจากสัมมนาเรียบร้อย เราก็ไปดูในส่วนของจริง ด้วยการชมการสาธิต การทำงานของหุ่นยนต์ HSR ผู้ช่วยงานบ้าน โดยมี Mr.Nobuhiko Koga คอยอธิบายและตอบคำถามอย่างละเอียด และยังมีสื่อมวลชนไทยออกไปลองสั่งงาน หุ่นยนต์ HSR ซึ่งก็สามารถรับคำสั่ง และตอบสนองการสั่งงานได้อย่าวรวดเร็ว

ต่อมาก็เป็นการสาธิต FSR-Field Support Robot ซึ่งทางโตโยต้าจะบรรจุเข้าไปร่วมเป็นหุ่นยนต์ช่วยเหลือที่ใช้ในกีฬาประเภทขว้าง เช่น พุ่งแหลน ขว้างจักร และทุ่มน้ำหนัก ของกีฬาโอลิมปิคอีกด้วย เมื่อนักกีฬาขว้างออกไปแล้ว จะมีเจ้าหน้าที่ไปเก็บอุปกรณ์กีฬาใส่ใน FSR แล้วตัว FSR จะวิ่งนำอุปกรณ์ไปส่งให้กรรมการต่อไป ช่วยทุ่นแรงคนที่จะต้องเดินส่งอุปกรณ์ สำหรับ FSR ทำความเร็วได้สูงสุด 20 กิโลเมตรต่อชั่วโมง และที่เจ๋งคือ มีระบบติดตามบุคคล ซึ่งจะจำหน้าเจ้าหน้าที่คนสั่งงาน และติดตามไปตลอด แถมยังมีระบบป้องกันการชน ถ้ามีคนเข้ามาขวาง หรือวิ่งตัดหน้า ตัว FSR ก็จะหยุด และเลี้ยวหลบหลีกเพื่อหาทางไปทางอื่น

หลังจากจบการสาธิตเกี่ยวกับหุ่นยนต์ไปเรียบร้อย ก็มาต่อในเรื่องของ การพัฒนาระบบอัตโนมัติที่ใช้กล้องเป็นพื้นฐานในการจัดทำแผนที่ความคมชัดสูง (HD) สำหรับถนนในเมืองและพื้นผิวถนน บนแพลตฟอร์มซอฟต์แวร์ Automated Mapping Platform (AMP) ซึ่งจะรองรับการขยายตัวของระบบขับขี่อัตโนมัติ โดยจะเป็นส่วนประกอบของระบบ Toyota Safety Sense (TSS) ที่ติดตั้งในรถยนต์โตโยต้าทั่วโลก ภาพและข้อมูลที่ได้จากระบบ TSS จะถูกนำไปประมวลผลบนแพลตฟอร์มแบบเรียลไทม์ของ CARMERA เพื่อจัดทำข้อมูลแผนที่ HD โดยอัตโนมัติ ซึ่งการนำแผนที่ที่สร้างจากเทคนิคที่ใช้ในโปรเจกต์ดังกล่าวมารวมกับแผนที่ที่มีอยู่ปัจจุบัน จะช่วยให้ได้ข้อมูลท้องถนนที่มีความน่าเชื่อถือมากยิ่งขึ้น อีกทั้งการทำแผนที่ HD โดยใช้ข้อมูลที่ได้จากรถยนต์ที่มีจัดจำหน่ายอยู่ทั่วโลกจะทำให้ระบบขับขี่อัตโนมัติสามารถนำมาใช้ได้จริงเร็วยิ่งขึ้นด้วย

อีกส่วนหนึ่งก็คือ การแนะนำขั้นตอนการพัฒนาระบบขับเคลื่อนอัตโนมัติ Driver Monitoring System (DMS) สำหรับยานยนต์อัตโนมัติ ด้วยห้องจำลองการขับขี่เสมือนจริง ในห้องจะมีการสร้างรูปแบบเหมือนการขับรถจริง โดยจะจำลองห้องโดยสารสำหรับผู้ขับขี่ โดยระบบ DMS จะใช้กล้องและเซ็นเซอร์ที่ติดตั้งไว้กับตัวรถตรวจสอบความเคลื่อนไหวของม่านตาและการหันหน้าของผู้ขับขี่ ผู้ควบคุมที่อยู่ภายนอกห้องก็จะรู้ว่าผู้ขับขี่ขับรถแบบไหน ผู้ขับขี่มองตรงจุดไหนและทำอะไรบ้าง มีการถ่ายทอดภาพขึ้นบนจอเพื่อวิเคราะห์และเก็บข้อมูลไปใช้ในการพัฒนาซอฟต์แวร์ให้ดียิ่งขึ้น ซึ่งระบบนี้ออกแบบมาเพื่อป้องกันไม่ให้ผู้ขับเผลอมองไปทางอื่นนอกถนน และในอนาคตจะกลายเป็นเทคโนโลยีที่จำเป็นในการเปลี่ยนผ่านจากรูปแบบการขับด้วยมือสู่ระบบอัตโนมัติแบบเต็มรูปแบบ

จบวันไปอย่างรวดเร็วกับการเรียนรู้ความก้าวหน้าของโลกยนตกรรมในปัจจุบัน ของโตโยต้า ผมเชื่อเหลือเกินว่าในอนาคตข้างหน้าที่จะมาถึงในอีกไม่นาน เราจะได้เห็นของจริงในเรื่องของการเป็นผู้ทำหน้าที่ขับเคลื่อนโลกของโตโยต้า หากทิศทางของเทคโนโลยี 4 ประการ ของโตโยต้า ซึ่งประกอบด้วย เครือข่ายแบบเชื่อมต่อ (Connected Networks) ระบบอัตโนมัติ (Automation) บริการระบบศูนย์กลางเพื่อกระจายข้อมูล (Shared Services) และระบบพลังงานไฟฟ้า (Electrification) เมื่อทำงานร่วมกันแล้วสามารถทำให้เกิดความเป็นไปได้ของการเริ่มต้นของการขับเคลื่อนที่ในรูปแบบใหม่ ยิ่งจะเป็นการตอกย้ำในแนวคิดของโตโยต้าที่ว่า โตโยต้าต้องการพลิกโฉมองค์กร เพื่อมุ่งสู่การเป็นผู้ทำหน้าที่ขับเคลื่อนโลก นั่นเป็นเรื่องจริง และทำได้จริงแล้ว ...




TOKYO MOTORSHOW 2019

TOYOTA IN TOKYO MOTORSHOW 2019 ตอนที่ 5 กิน เที่ยว เฟี้ยว In Japan article
TOYOTA IN TOKYO MOTORSHOW 2019 ตอนที่ 3 Mobility for All article
TOYOTA IN TOKYO MOTORSHOW 2019 ตอนที่ 2 Learning The Future article
มีอะไรใน TOKYO MOTORSHOW 2019 article



Copyright © 2018 All Rights Reserved.