
โตโยต้า ยาริส เปิดตัวครั้งแรกในประเทศไทย ตอนเดือนมกราคม 2549 หลังจากนั้นในเดือนตุลาคม 2556 ก็เปิดตัวยาริส เจนเนอเรชั่นที่ 2 มาในรูปแบบอีโค่คาร์ ที่ใช้เครื่องยนต์ 1,200 ซีซี.ซึ่งได้รับความนิยมมากมาย เมื่อถึงเวลาอันสมควรก็จัดการปรับโฉมอีกครั้งและเปิดตัวช่วงกลางเดือนกันยายน 2560 ที่ผ่านมา เน้นกลุ่มเป้าหมายชายหญิง อายุ 22-39 ปี ชอบความโดดเด่นไม่ซ้ำใคร ไลฟ์สไตล์สนุกสนานทันสมัย เป็นนักศึกษา พนักงานบริษัท หรืออาชีพอิสระ ที่กำลังต้องการซื้อรถยนต์เป็นคันแรก
ถัดจากนั้น ก็เชิญชวนชาวเราไปลองขับ เพื่อให้ได้รับรู้ว่าของเค้าดียังไง สำหรับครั้งนี้ทางทีมงาน 4x4Special และ autocarspecial ก็ได้มีโอกาสในการไปร่วมสัมผัสยาริสรุ่นปรับโฉมใหม่ด้วย



ยาริส รุ่นปรับโฉม พัฒนาขึ้นด้วย 4 จุดมุ่งหมายหลัก คือ ดีไซน์ภายนอกที่โดดเด่นทันสมัยคล่องตัว ความสะดวกสบายในการขับขี่ ห้องโดยสารกว้างขวาง และอุปกรณ์มาตรฐานครบครัน เช่น การมีความแตกต่างจากรุ่นเดิมตรงฝากระโปรงท้ายออกแบบใหม่ กว้างขึ้น 124 มิลลิเมตร สูงขึ้น 25 มิลลิเมตร ภายในห้องโดยสารเพิ่มฉนวนกันเสียง เบาะหลังแยกพับในรุ่น G และ E และเบาะหลังพับได้ในรุ่น J และ J ECO สมรรถนะการขับที่สนุกสนาน ประหยัด เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และสุดท้ายคือ มาตรฐานความปลอดภัยที่ครบครัน รุ่นท็อปให้มาครบๆ ทั้ง ABS, EBD และ BA รวมทั้ง VSC, TRC และ HAC มีแอร์แบ็ก 7 ใบ เป็นครั้งแรกในรถระดับนี้


ยาริส แฮทช์แบ็ก และ ยาริส เอทีฟ ซีดาน ใช้พื้นฐานหลักร่วมกัน โดยยาริส แฮทช์แบ็ก จะตกแต่งในสไตล์สปอร์ตเพื่อให้สอดคล้องกับรูปลักษณ์แบบ 5 ประตู เริ่มจากกระจังหน้าลายสปอร์ต คิ้วฝากระโปรงหลังสีดำ มีสปอยเลอร์หลัง และที่ปัดน้ำฝนหลัง มิติตัวถัง มีความยาว 4,145 มิลลิเมตร กว้าง 1,730 มิลลิเมตร สูง 1,500 มิลลิเมตร ฐานล้อ 2,550 มิลลิเมตร ระยะต่ำสุด 135 มิลลิเมตร น้ำหนัก 1,087 กิโลกรัม ส่วนเอทีฟ ซีดาน มีความยาว 4,425 มิลลิเมตร กว้าง 1,730 มิลลิเมตร สูง 1,475 มิลลิเมตร ฐานล้อ 2,550 มิลลิเมตร ระยะต่ำสุด 133 มิลลิเมตร
ในส่วนของช่วงล่าง ด้านหน้าใช้งานแบบอิสระแม็กเฟอร์สันสตรัท พร้อมเหล็กกันโคลง ด้านหลังเป็นทอร์ชั่นบีม พร้อมเหล็กกันโคลง ปรับปรุงค่าการดูดซับของโช้คหน้าและหลังใหม่ ทั้งยังปรับค่าความแข็งของสปริงหลังให้เหมาะสมกับท้ายรถที่สั้น ปรับจุดยึดช่วงล่างด้านหลัง ทั้งในส่วนของน็อตยึดทอร์ชั่นบีมและตัวลูกยางกันกระแทกในทอร์ชั่นบีมใหม่ เพื่อให้การตอบสนองของช่วงล่างหลังมีความเสถียรและนิ่งขึ้นกว่าเดิม พร้อมปรับค่าความหนืดรวมหรือ Total Pre-Load ของชุดแร็คพวงมาลัยให้น้อยลง ช่วยผ่อนแรงหมุนพวงลัย เพิ่มความคล่องตัวเมื่อขับในที่คับแคบ และปรับค่าซอฟท์แวร์กล่องควบคุมทั้งในส่วนของเครื่องยนต์/เกียร์ใหม่ทั้งหมด เพื่อการตอบสนองการขับขี่ที่ดีขึ้น


สำหรับการทดสอบยาริสครั้งนี้ ใช้เส้นทางกรุงเทพฯ-กาญจนบุรี ระยะทางรวมไป-กลับ ประมาณ 400 กิโลเมตร ส่วนใหญ่ขับแบบ Free Run ไม่ต้องขับตามกันเป็นขบวน แต่ก็มีรถนำให้ 1 คัน ซึ่งผู้ที่ขับนำจะเป็นใครไปไม่ได้ ต้องเป็น “เอก ลำตะคอง” สุดยอดพีอาร์แห่งยุคของโตโยต้า คนเดียวเท่านั้น
รูปแบบการขับขี่ไปกันแบบสบายๆ ค่อนข้างตรงกับการใช้งานจริง ขับความเร็ว 110-120 กิโลเมตรต่อชั่วโมง รอบเครื่องยนต์ประมาณ 2,400-2,600 รอบต่อนาที ถ้าค่อยๆ กดคันเร่งเพิ่มรอบ ไฟ ECO จะไม่ดับจนถึงรอบประมาณ 3,000 รอบต่อนาที อัตราสิ้นเปลืองดีที่สุดในช่วงแรกก่อนไปถึงร้านอาหารมื้อเที่ยงจะอยู่ที่ประมาณ 17 กิโลเมตรต่อลิตร
สำหรับเครื่องยนต์ตัวนี้ยังใช้งานของเดิมรหัส 3NR-FE 4 สูบ 16 วาล์ว Dual VVT-i ความจุ 1,197 ซีซี.86 แรงม้า ที่ 6,000 รอบต่อนาที แรงบิดสูงสุด 11.0 กก.-ม.ที่ 4,000 รอบต่อนาที พร้อมเกียร์อัตโนมัติ Super CVT-i ขับเดินทางไกลได้สบายๆ ด้วยความเร็วตามกฎหมาย บางช่วงเป็นถนน 2 เลน ต้องเร่งแซงบ้าง อัตราเร่งก็เป็นไปตามระดับของเครื่องยนต์ ใช้งานเดินทางปกติทั่วไป ถือว่าตอบสนองได้ดี และเพียงพอต่อการใช้งาน แต่ถ้าเป็นคนที่ชื่นชอบการขับรถเร็วก็อาจจะรู้สึกไม่ถูกใจ คงต้องไปหารถที่เครื่องยนต์ใหญ่กว่านี้แล้วละครับ


เราแวะกินข้าวเที่ยงกันทีร้านกิ่งไผ่ใบตอง ระหว่างทางที่มุ่งหน้าไปจังหวัดกาญจนบุรี อาหารที่สั่งมาก็รสชาติดีเลยทีเดียวทั้ง แกงเลียงรสชาติเข้มข้น ซดคล่องคอ ต่อด้วยแกงเขียวหวานเนื้อแบบผัดแห้ง อันนี้เด็ดเลยครับ รสชาติจัดจ้านโดนใจ เสริมความอร่อยอีกนิดด้วยหลนปลาอินทรีย์ กินกับผักสด ลดความเผ็ดลงไปได้พอสมควร จริงๆแล้วที่ร้านนี้มีกับข้าวอีกหลายอย่าง แต่ผู้เขียนชอบอยู่ไม่กี่อย่างก็เลยจัดมาเท่านี้พอ ไม่อยากกินมากเดี๋ยวตอนบ่ายจะง่วงจนขับรถไม่ไหว


หลังจากกินข้าวเสร็จ ก็ออกเดินทางต่อขึ้นไปยังอำเภอศรีสวัสดิ์ สำหรับจุดเด่นที่ผู้เขียนชอบมากเป็นพิเศษ ไม่ได้อยู่ที่กำลังเครื่องยนต์ แต่อยู่ที่คุณภาพของการขับโดยรวมซึ่งให้ความรู้สึกที่ดี โดยเฉพาะความนุ่มนวลหนักแน่นของช่วงล่างที่ทำการปรับเซ็ทมาแบบลงตัวมากๆ และยังมีการตอบสนองของพวงมาลัยที่ผ่อนแรง หนัก/เบา ได้พอดี การเก็บเสียงที่ทำได้ดี ห้องโดยสารกว้างขวางและใช้วัสดุที่ดูดี เบาะนั่งด้านหลังสอบถามจากผู้ที่โดยสารมาด้วย ได้คำตอบว่านั่งได้สบายๆ ทั้งพื้นที่เหนือศีรษะและที่วางขากว้างขวางพอตัว ที่เก็บของด้านหลังไม่แคบไม่กว้าง ขยายพื้นที่ได้อีกด้วยพนักพิงเบาะหลังที่แยกพับได้แบบ 60:40



ช่วงก่อนถึงที่พักเป็นทางชันและคดเคี้ยว ได้ลองช่วงล่างและอัตราเร่งอีกครั้ง เข้าโค้งแบบเกรงใจคนนั่งหลัง การควบคุมรถทำได้ง่าย พวงมาลัยเพาเวอร์ไฟฟ้าไม่เบาเกินไป ทำให้เข้าโค้งได้อย่างมั่นคง รีดสมรรถนะของเครื่องยนต์ด้วยการเลื่อนคันเกียร์ไปที่ตำแหน่ง S และ B เป็นบางครั้ง ทำให้เร่งแซงได้ฉับไวขึ้นและช่วยหน่วงความเร็วเมื่อขับลงเนิน ระบบเบรกหน้าดิสก์หลังดรัมพร้อมตัวช่วยครบครัน ฟิลลิ่งในการเหยียบเบรกทำได้ดี ไม่จับตัวเร็วเกินไปจนขาดความนุ่มนวล แรงเบรกสัมพันธ์กับน้ำหนักเท้าที่เหยียบแป้นเบรก และมีแรงเบรกอย่างเหลือเฟือ ซึ่งตรงนี้เป็นอีกจุดหนึ่งที่ทางโตโยต้าตั้งใจปรับปรุงมาหลายรุ่นแล้ว จนกระทั่งมาถึงยาริส รุ่นปรับโฉมใหม่นี้ สำหรับไซส์ยาง 185/60R15 ลงตัวทั้งการยึดเกาะถนนและความนุ่มนวล ถ้าอยากเพิ่มการยึดเกาะในส่วนนี้ ไม่จำเป็นต้องขยับไซส์ แค่เปลี่ยนยางแพงๆราคาแรงๆก็น่าจะเพียงพอแล้ว