ลุยงานใหญ่ Tokyo Motor Show 2017 (ตอนที่ 2)
Hama Wing พลังลมสู่พลังที่ไม่มีขีดจำกัดจากโตโยต้า

หลังจากตอนที่แล้ว เราไปทำความรู้จัก และเรียนรู้ เกี่ยวกับรถใหม่ของโตโยต้าที่เปิดตัวในงาน Tokyo Motor Show 2017 ไปเป็นที่เรียบร้อย ทางโตโยต้าก็พาไปเรียนหนังสือต่อเกี่ยวกับพลังงานไฮโดรเจน ที่มีการผลิตขึ้นมาเองเพื่อใช้งานในโรงงานต้นแบบของโตโยต้าที่เมืองโยโกฮามา


โยโกฮามา Yokohama เป็นเมืองท่าสำคัญของประเทศญี่ปุ่น อีกทั้งยังเป็นที่รวบรวมวัฒนธรรมจากทั่วทุกมุมโลกมาไว้ในเมืองเดียว เนื่องจากเป็นเมืองที่ติดทะเล ในสมัยก่อนจึงมีกลุ่มพ่อค้าจากต่างประเทศ เดินทางเข้ามาทำการค้ากันที่เมืองนี้


คณะทัวร์ Tokyo Motor Show 2017 ออกเดินทางกันเช้าหน่อย เพราะเราพักอยู่ที่โตเกียว ต้องเดินทางไปโยโกฮามา ซึ่งใช้เวลาเดินทางประมาณ 1 ชั่วโมง 15 นาที สำหรับพาหนะในวันนี้ เป็นรถบัสที่โตโยต้าจัดไว้ให้ และเดินทางร่วมไปกับสื่อมวลชนจากชาติอื่นด้วย นับเป็นงานใหญ่มากสำหรับสื่อมวลชนสายรถยนต์อย่างเรา โดยชุดนี้มีนักข่าวจากประเทศมาเลเซีย และอินโดนีเชีย

โยโกฮามา เป็นเมืองท่าที่มีบรรยากาศคึกคัก เป็นเมืองหลวงของจังหวัดคานากาว่า Kanagawa ตั้งอยู่ทางตอนใต้ของโตเกียว ริมฝั่งมหาสมุทรแปซิฟิก และยังเป็นเมืองใหญ่อันดับ 2 รองจากโตเกียวอีกด้วย โยโกฮามาจึงเป็นเมืองท่าที่ใหญ่ที่สุดในญี่ปุ่น เป็นเมืองศูนย์กลางการค้า อุตสาหกรรม แฟชั่น และคมนาคมไปสู่ภูมิภาคอื่นๆ ปัจจุบันยังมีการติดต่อค้าขายโดยใช้ท่าเรือของเมืองนี้ จึงเป็นย่านเศรษฐกิจที่สำคัญแห่งหนึ่ง มีประชากรอาศัยอยู่ราว 3.6 ล้านคน

เดิมทีโยโกฮามาเป็นหมู่บ้านเล็กๆ ที่มีประชากรอาศัยอยู่เพียง 600 คน เมื่อท่าเรือเปิดทำการขึ้นในปีพ.ศ.2402 (ค.ศ.1859) วัฒนธรรมที่หลากหลายจากต่างประเทศก็หลั่งไหลเข้ามาพร้อมกับการค้าขาย ทำให้โยโกฮามาเป็นเมืองญี่ปุ่นสมัยใหม่ มีการส่งออกผ้าไหมและชา ต่อมาในปีพ.ศ.2474 (ค.ศ.1931) โยโกฮามาได้หันทิศทางมุ่งเป้าไปสู่การเป็นเมืองอุตสาหกรรม และได้รับการพัฒนาให้เป็นพื้นที่เขตอุตสาหกรรม

แม้จะได้ชื่อว่าเป็นเมืองท่าและเมืองอุตสาหกรรม แต่โยโกฮามาก็ใช่ว่าจะเป็นเมืองที่แข็งกระด้าง ศิลปะแขนงต่างๆ ได้ถูกนํามาใช้อย่างถูกที่ถูกทาง ผสมผสานกลมกลืนและลงตัว อาคารเก่าๆ อาคารประวัติศาสตร์ รวมถึงคลังสินค้า ได้รับการปรับปรุงรักษาสภาพเดิมไว้ แล้วใช้ประโยชน์ตามความเหมาะสม เป็นเอกลักษณ์ที่เมืองอื่นๆ ยากจะเทียบเทียมได้

เราเดินทางมาถึง Pacifico Yokohama เป็นสถานที่รองรับสื่อมวลชนที่จะมาร่วมสัมนาเรียนรู้เกี่ยวกับเทคโนโลยีใหม่ๆ ของโตโยต้า เอาไบเทคบางนา ผสมกับ อิมแพ็คเมืองทอง ของเค้ายังใหญ่กว่าเราเยอะเลย

ลงจากรถบัสเดินเข้าไปด้านในฮอล ขึ้นบันไดเลื่อนไป 3 ชั้น ก็เจอกับห้องประชุมขนาดใหญ่ เปิดแอร์เย็นมากแบบไม่เคยหนาวมาก่อนรึไงก็ไม่รู้ เข้าไปนั่งสั่นงึดๆเลย แถวของไทยแลนด์ถูกจัดให้นั่งฝั่งขวาของห้องประชุม พร้อมด้วยเอกสารและหูฟังสำหรับการแปลภาษา เพื่อให้เข้าใจง่ายขึ้น ซึ่งเราก็มีอาจารย์อำนาจ ธีรพงษ์พิพัฒน์ ที่เป็นผู้เชี่ยวชาญทางด้านภาษาญี่ปุ่นคอยช่วยเหลืออยู่แล้ว

สำหรับการเรียนการสอนในวันนี้ เน้นไปในเรื่องของโครงการ Hama Wing ซึ่งเกิดขึ้นที่เมืองโยโกฮามา เมืองอุตสาหกรรมที่มีระบบการจัดการสิ่งแวดล้อมที่ดี จนได้รับการยกย่องว่า “เมืองที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม” คำว่า Hama Wing นั้นเป็นชื่อเล่น (อย่างเป็นทางการ) ของโรงงานผลิตไฟฟ้าพลังงานลม ลงมือก่อสร้างตั้งแต่พ.ศ.2550 เรื่อยมา โปรเจ็คท์นี้เป็นโครงการสาธิตซับพลายเจน ซึ่งก็คือการกักเก็บและขนส่งแจกจ่ายพลังงานไฮโดรเจน โดยกระทรวงสิ่งแวดล้อมของญี่ปุ่น เพื่อให้มีการส่งเสริมการนำเอาไฮโดรเจนมาใช้อย่างเป็นรูปธรรม โดยเป็นการร่วมมือกันของท้องถิ่น และภาคเอกชน จึงทำให้เกิดโครงการนี้ขึ้น

สำหรับกังหันลมที่ใช้อยู่ที่โรงงานนี้ เป็นของ Vestas A / S รุ่น V80-2.0 MW ผลิตจากประเทศเดนมาร์ค ซึ่งเป็นโรงงานผลิตกังหันลมอันดับ 1 ของโลก ตัวกังหันมีเส้นผ่าศูนย์กลางโรเตอร์หรือเส้นรอบวงของกังหันใบพัดอยู่ที่ 80 เมตร (260 ฟุต) และตัวหอคอยที่เป็นฐานของใบพัดสูง 78 เมตร (256 ฟุต) แต่ถ้าจะวัดที่จุดสูงสุดของการหมุนรวมกังหันด้วยก็จะมีความสูงถึง 118 เมตร (387 ฟุต) เลยทีเดียว นับว่าเป็นสิ่งก่อสร้างที่สูงเด่นเป็นสง่า และเป็นแลนด์มาร์คของเมืองนี้เลยทีเดียว นอกจากนี้ Vestas ยังได้การันตีถึงความพร้อมในการผลิตไฟฟ้าจากลม โดยมีระบบ Vestas Online® Business มาใช้ในการกำกับดูแล เก็บข้อมูลเพื่อการเฝ้าระวัง ซึ่งมีประสิทธิภาพสูงและเป็นลิขสิทธิ์เฉพาะของ Vestas

กังหันลม Hama Wing มีกำลังการผลิต 1,980 กิโลวัตต์ (เทียบกับการใช้พลังงานไฟฟ้าได้มากถึง 860 ครัวเรือน) โดยกังหันจะเริ่มต้นปั่นกระแสไฟได้ต้องมีแรงลมไม่น้อยกว่า 4 เมตร/วินาที และที่โตโยต้าสร้าง Hama Wing ขึ้นมา มีจุดประสงค์เพื่อประชาสัมพันธ์แหล่งพลังงานทดแทนที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และจ่ายกระแสไฟฟ้าไปยังเขตมินาโตะมิราอิ อีกด้วย

นอกจากการสร้าง Hama Wing แล้ว โตโยต้ายังมองเห็นถึงปัญหาของการเก็บพลังไฟฟ้า เพราะพลังงานไฟฟ้าที่ได้มาก็ต้องขึ้นอยู่กับพลังของแรงลมที่จะมาทำการหมุนใบพัด ซึ่งมีความไม่แน่นอน จึงไม่สามารถปั่นกระแสไฟใช้งานได้ตลอดเวลา เพราะฉะนั้นจึงต้องทำการแก้ปัญหาด้วยการใช้แบตเตอรี่เข้ามาประจุไฟ กักเก็บกระแสไฟในช่วงที่ลมแรง ซึ่งแบตเตอรี่ที่ใช้อยู่ในโครงการนั้นเป็นแบตเตอรี่เก่าจากรถโตโยต้าพรีอุสไฮบริด ถึง 180 คัน ซึ่งหลังจากการเตรียมการแก้ไขปัญหาทั้งหมดแล้ว Hama Wing สามารถผลิตกระไฟได้ในลักษณะที่เขาเรียกว่า “แบบยืดหยุ่น” สามารถกักเก็บและแบ่งการใช้งานออกเป็นส่วนๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ
เมื่อกระแสไฟถูกผลิตและเก็บไว้ในแบตเตอรี่แล้ว ก็จะนำไฟฟ้าที่ได้มาเข้าสู่กระบวนการผลิตไฮโดนเจนเข้าสู่แท็งค์กักเก็บขนาดใหญ่ ส่วนการขนส่งไปยังมือผู้บริโภคนั้นก็จัดการด้วยระบบขนส่งโดยบรรทุก ที่ติดตั้งแท็งค์เก็บและอุปกรณ์จ่ายก๊าซที่ผลิตขึ้นมาโดยเฉพาะ ผู้ใช้ไม่ต้องเดินทางมาเติมในสถานีด้วยตัวเอง สามารถติดต่อทางโรงงาน นัดสถานที่และเวลาเพื่อทำการเติมเชื้อเพลิงได้สะดวก และรวดเร็ว สามารถเติมไฮโดรเจนเต็มในเวลาเพียงแค่ 3 นาที
นอกจากส่งออกไปให้ผู้บริโภคแล้ว ยังแบ่งพลังงานไฮโดรเจนมาใช้ในโรงงาน โดยใช้กับรถโฟล์คลิฟท์ ที่ติดตั้งเซลเชื้อเพลิงจำนวน 12 คัน และยังส่งรถโฟล์คลิฟท์เพื่อไปใช้งานในตลาดค้าส่งเมืองโยโกฮามา รวมทั้งที่โรงงานเบียร์คิริน และบริษัทขนส่งมิชิเรโลจิสติคอีกด้วย ซึ่งจะมีการเก็บข้อมูลการใช้งานของรถรถโฟล์คลิฟท์ โดยมีระบบตรวจสอบปริมาณไฮโดรเจนของรถแต่ละคันบันทึกเอาไว้ในเซฟเวอร์ เพื่อเป็นข้อมูลสำหรับการใช้งานในที่อื่นๆด้วย
สำหรับเรื่องของการคำนวนค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับพลังงานไฮโดรเจน รวมถึงค่าขนส่ง ทางเจ้าหน้าที่ของโรงงานไม่ได้บอกเป็นตัวเลขออกมาอย่างแน่ชัด แต่โดยรวมแล้วถือว่ามีการใช้งานที่คุ้มค่า และค่าใช้จ่ายถูกกว่าเชื้อเพลิงอย่างอื่นแน่นอน แต่อย่างไรก็ตามการใช้พลังงานไฮโดเจน ที่โตโยต้ามุ่งมั่นพัฒนามาตลอด และแสดงให้เห็นเป็นรูปธรรมชัดเจนกับ “มิไร” รถยนต์ไฟฟ้าพลังงานไฮโดรเจนรุ่นแรกออกจำหน่ายอย่างเป็นทางการไปแล้ว ซึ่งตรงนี้คงจะเป็นการยืนยันอย่างชัดเจนว่า โตโยต้าจะยังคงพัฒนาพลังงานไฮโดรเจนต่อไป โดยวางเอาไว้เป็นพลังงานคู่ขนานที่สามารถพัฒนาไปพร้อมกันได้
อีกสิ่งหนึ่งถ้าพูดถึงเรื่องการคุ้มทุนกับระบบผลิตกระแสไฟฟ้าด้วยพลังงานลมของ Hama Wing นั้น คงนำมาเทียบกันไม่ได้ เนื่องจากว่า โครงการนี้เป็นโครงการทดลอง การลงทุนค่อนข้างสูง และเป็นผลิตพลังงานไฟฟ้าแบบยืดหยุ่น ซึ่งนั่นก็หมายความว่าไม่สามารถผลิตพลังงานไฟฟ้าออกมาได้เต็มกำลังสูงสุดเท่าที่กังหันลมจะสามารถผลิตได้ แต่สิ่งหนึ่งที่ได้ก็คงเป็นเรื่องของ การเริ่มต้นของการนำเอาพลังงานทางเลือก ซึ่งเป็นพลังงานจากธรรมชาติ มาผลิตเป็นพลังงานไฟฟ้า และนำกลับมาใช้ในโรงงาน ถือเป็นการริเริ่มอย่างยั่งยืนในเรื่องของการรักษาสิ่งแวดล้อม และเป็นจุดเริ่มต้นของการนำเอาพลังงานทางเลือกในรูปแบบนี้ ไปใช้ในการะบวนการผลิตในทุกรูปแบบ เพื่อลดมลภาวะ และทำให้โลกเราน่าอยู่มากยิ่งขึ้น