ลุยงานใหญ่ Tokyo Motor Show 2017 (ตอนที่ 4)
TOYOTA JPN TAXI แท็กซี่แห่งชาติญี่ปุ่น

สำหรับการพาท่านผู้อ่านไปเที่ยวชมงานใหญ่ โตเกียว มอเตอร์โชว์ Tokyo Motor Show 2017 ซึ่งก็ต่อเนื่องกันมาเป็นตอนที่ 4 วันนี้จะมาเล่าเกี่ยวกับรถ TOYOTA JPN TAXI 1.5 HYBRID + LPG แท็กซี่แห่งชาติญี่ปุ่น
โดยส่วนใหญ่เวลาได้ไปต่างประเทศ หลายๆท่านคงเลือกที่จะไปกับทัวร์ เพราะเน้นเรื่องของความสะดวกสบายมีรถบัสมารอรับตลอด ตั้งแต่ออกจากโรงแรมที่พักไปเที่ยวตามสถานที่ต่างๆทั้งวัน จนกลับมาส่งที่โรงแรมในตอนเย็น อาจจะมีน้อยครั้งมากที่ท่านผู้อ่านจำเป็นจะต้องโดยสารรถประจำทาง หรือรถสาธารณะ


ครั้งนี้ ถือว่าโชคดีอย่างมากที่ทีมงาน 4x4Special และ www.autocarspecial.com ได้เดินทางด้วยพาหนะพิเศษสุดๆที่โตโยต้าจัดเอาไว้ให้ เป็นพาหนะที่เราตามข่าวและอยากจะสัมผัสตัวเป็นๆ อยากนั่งเพื่อเป็นบุญบั้นท้าย กับ TOYOTA JPN TAXI 1.5 HYBRID + LPG แท็กซี่แห่งชาติญี่ปุ่น
การเริ่มต้นของ JPN TAXI ในประเทศญี่ปุ่น โตโยต้ามีประวัติในการนำรถที่มีอยู่ในไลน์อัพของตัวเองมาทำการพัฒนาและปรับปรุงให้เป็นรถแท็กซี่ตั้งแต่ปี พ.ศ.2479 (ค.ศ.1936) ในญี่ปุ่นปัจจุบันส่วนใหญ่จะใช้รถ TOYOTA CROWN เป็นรถแท็กซี่ ซึ่งผลิตออกมาตั้งแต่ พ.ศ.2498 (ค.ศ.1995)
จากนั้นก็มีการปรับปรุงในเรื่องของตัวรถ และอุปกรณ์ส่วนควบที่จะใช้กับรถ JPN TAXI มาตลอด จนถึงปัจจุบัน TOYOTA CROW COMFORT มีอายุมากกว่า 22 ปีแล้ว ใช้เป็นแท็กซี่ส่วนใหญ่ในญี่ปุ่น เห็นกันจนคุ้นตา โตโยต้าจึงมองเห็นถึงการจัดสร้างรถที่ใช้เป็นแท็กซี่แบบเฉพาะทาง และตอบโจทย์ในการขนส่งผู้โดยสารได้ในทุกรูปแบบ ทำให้มีการพัฒนา TOYOTA JPN TAXI ขึ้น มีการเปิดตัวรถต้นแบบ TOYOTA JPN TAXI Concept ในงาน Tokyo Motor Show 2013 และ พัฒนามาสู่เวอร์ชั่นจำหน่ายจริงที่เรากำลังเล่าให้ท่านทราบ

รถ TOYOTA JPN TAXI มีแนวคิดการออกแบบให้เป็นรถที่ถือกำเนิดมาเพื่อเป็นแท็กซี่โดยเฉพาะ Mr.Hiroshi Kayukawa ในฐานะหัวหน้าวิศวกร Chief Engineer ผู้รับผิดชอบโครงการ TOYOTA JPN TAXI คันนี้ได้บอกเอาไว้ว่า ตอนนี้ประเทศญี่ปุ่นมีผู้สูงอายุเพิ่มมากขึ้นในทุกๆปี ด้วยเหตุนี้ จึงเป็นโจทย์ในการออกแบบรถแท็กซี่ ให้เป็นเอกลักษณ์ของประเทศญี่ปุ่น และสามารถตอบสนองผู้โดยสารได้ทุกเพศ ทุกวัย ทั้งผู้สูงอายุ และผู้ที่ต้องการความช่วยเหลือพิเศษที่ใช้วีลแชร์ Wheelchair ซึ่งมีปัญหาการใช้งานรถแท็กซี่ที่วิ่งกันอยู่ทั่วไปในปัจจุบัน นอกจากนั้นโตโยต้าก็ยังตั้งใจผลิตรถรุ่นนี้ออกมาเพื่อมารองรับความต้องการในการเดินทาง ในช่วงของการจัดงานโอลิมปิค Tokyo Olympic Games และพาราลิมปิค Paralympic Games ในปี 2020 อีกด้วย
หลังจากปรับปรุงและพัฒนาอย่างต่อเนื่องมาจนถึงปี พ.ศ.2560 (ค.ศ.2017) ทางโตโยต้าก็เริ่มส่งมอบ TOYOTA JPN TAXI อย่างเป็นทางการ ในวันที่ 23 ตุลาคม 2560 เป็นวันแรก และเป็นความโชคดีของกลุ่มสื่อมวลชนทั้งไทยและประเทศต่างๆที่โตโยต้าเชิญมาชมงาน Tokyo Motor Show 2017 ได้มีโอกาสนั่งรถ TOYOTA JPN TAXI แบบตัวเป็นๆ ให้ชื่นใจ เป็นบุญตูด ไปในคราวเดียวกัน โดยเรานั่งไปกันแบบ VIP นั่งแบบไม่เสียตังค์อ่ะ

สำหรับ TOYOTA JPN TAXI ในเวอร์ชั่นผลิตออกมาขายจริง มิติตัวถัง ยาว 4,400 มิลลิเมตร กว้าง 1,695 มิลลิเมตร (เพื่อให้สอดคล้องกับอัตราการเก็บภาษีประจำปีรถยนต์ของรัฐบาลญี่ปุ่น ในระดับของรถ Compact โดยรถที่เสียภาษีในระดับนี้จะถูกจำกัดความกว้างไว้ที่ไม่เกิน 1,700 มิลลิเมตร และความจุกระบอกสูบไม่เกิน 2,000 ซีซี.) ความสูง 1,740 มิลลิเมตร ระยะฐานล้อ 2,750 มิลลิเมตร (ซึ่งเท่ากับ TOYOTA SIENTA รุ่นปัจจุบัน)

งานออกแบบภายนอกของ TOYOTA JPN TAXI เราเดินดูกันแบบสาระแนมากๆ เพราะไปแงะ แกะ ลูบคลำ ทุกสัดส่วน สะดุดตาที่ด้านหน้ารถโดยส่วนตัวคิดว่าน่าจะเอาต้นแบบมาจาก TOYOTA CROWN COMFORT แต่ด้านหน้าหดสั้นลง กระจังหน้าโครเมียม ไฟหน้าโคมโปรเจ็คเตอร์แบบ LED พร้อมไฟกลางวัน Daytime Running Lights ส่วนด้านท้ายให้ความรู้สึกเหมือนรถลอนดอนแท็กซี่ LONDON TAXI โดยการออกแบบของ TOYOTA JPN TAXI จะเน้นไปที่ผู้โดยสารเป็นหลัก ห้องโดยสารโปร่งโล่งสบาย มีความสูงของห้องโดยสารมากเป็นพิเศษ ช่วยให้รู้สึกสบายไม่อึดอัด และพื้นที่วางเท้าสามารถเหยียดขาได้สบายๆ ในขณะที่ตัวรถถ้ามองจากภายนอก ดูไม่ใหญ่มาก แต่จัดสรรพื้นที่ภายในห้องโดยสารได้กว้างขวางดีเยี่ยม

ด้านท้ายรถเด่นด้วยกระจกบังลมหลังขนาดใหญ่ ติดตั้งใบปัดน้ำฝนจากด้านบน ประตูบานหลังเป็นแบบเปิดขึ้นเหมือนรถสไตล์ Mini MPV ทั่วไป ชุดไฟหรี่ ไฟท้ายและไฟสัญญาณทั้งหมดเป็น LED วางตัวในแนวตั้ง กันชนด้านหลังถูกแยกออกเป็น 3 ชิ้น ได้แก่ มุมกันชนซ้าย มุมกันชนขวา และกันชนหลัง เพื่อง่ายต่อการซ่อมแซม ค่าบำรุงรักษา และเปลี่ยนชิ้นส่วนหากเกิดอุบัติเหตุ

เนื่องจาก TOYOTA JPN TAXI ใช้เชื้อเพลิงเป็นก๊าซ LPG ดังนั้นจึงไม่ต้องมีถังน้ำมัน แต่มีถังก๊าซติดตั้งอยู่หลังเบาะนั่งด้านหลังแทน ช่องเติมก๊าซอยู่ด้านข้างตัวรถ เหมือนช่องเติมน้ำมันในรถทั่วไป สามารถดึงคันโยกเปิดได้จากตำแหน่งคนขับ หรือบริเวณที่เก็บสัมภาระด้านท้าย
ที่เก็บสัมภาระด้านท้ายขนาดใหญ่ สามารถใส่กระเป๋าเดินทางขนาดประมาณ 28 นิ้ว ได้ 2 ใบ นอกจากนี้ยังเอาใจนักกอล์ฟ สามารถใส่ถุงกอล์ฟได้ถึง 4 ใบ ด้านล่างของที่เก็บสัมภาระ จะเป็นช่องเก็บของ และแผ่นอะลูมิเนียมที่พับ แล้ว กางออกมาเป็นพื้นสำหรับรถเข็น Wheelchair เข้า-ออกตัวรถได้ รวมถึงเบาะนั่งผู้โดยสารด้านหน้าที่พับราบไปข้างหน้าได้ เพื่อเพิ่มพื้นที่ในการรองรับผู้โดยสารที่ใช้รถเข็น Wheelchair เรียกว่าออกแบบโดยคำนึงถึงสากลโลก Universal Design อย่างแท้จริง
TOYOTA JPN TAXI ใช้สีหลักๆ คือ สีน้ำเงินเข้ม ซึ่งเป็นสีที่อยู่ในวัฒนธรรมของประเทศญี่ปุ่นมาช้านาน ทั้งเสื้อผ้า ถ้วยชาม จิตรกรรมภาพวาด ดูเป็นมิตร และดูเป็นทางการ ไม่ว่าจะในโอกาสใดก็ตาม แต่ก็มีทางเลือกอีก 2 สีให้ด้วยเช่นกัน คือ สีขาว และสีดำ
ในส่วนของเครื่องยนต์เป็นแบบเบนซิน รหัส 1NZ-FXP ขนาด 1.5 ลิตร 1,496 ซีซี. TOYOTA HYBRID System II กระบอกสูบ x ระยะช่วงชัก : 75.0 x 84.7 มิลลิเมตร ให้กำลังสูงสุด 74 แรงม้า ที่ 4,800 รอบ/นาที แรงบิดสูงสุด 111 นิวตันเมตร ที่ 2,800 – 4,400 รอบ/นาที ทำงานร่วมกับมอเตอร์ไฟฟ้า Synchronous AC 2LM ให้กำลัง 61 แรงม้า แรงบิดสูงสุด 169 นิวตันเมตร เมื่อเครื่องยนต์ทำงานร่วมกับมอเตอร์ไฟฟ้า รวมพละกำลังได้สูงสุด 100 แรงม้า แบตเตอรี่ Ni-MH ขนาด 6.5Ah จับคู่กับเกียร์อัตโนมัติ แบบ Electric Continuously Variable Transmission (E-CVT) ขับเคลื่อนล้อหน้า ปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ CO2 ที่ 87 กรัม/กิโลเมตร
พื้นฐานของเครื่องยนต์ตัวนี้ถูกนำมาจาก TOYOTA SIENTA HYBRID แต่ TOYOTA JPN TAXI ได้มีการติดตั้งระบบเชื้อเพลิงแบบก๊าซ LPG เพิ่มเข้าไปด้วย เพื่อเป็นพลังงานทางเลือก ซึ่งชิ้นส่วนในเครื่องยนต์ได้มีการปรับปรุงความแข็งแรงของอุปกรณ์ส่วนควบ ให้รองรับเชื้อเพลิง LPG ได้ดีขึ้นด้วย เช่น บ่าวาล์วที่มีความทนทานมากขึ้น แคมชาฟท์, ลูกสูบ รวมถึงแหวนลูกสูบก็แตกต่างจาก TOYOTA SIENTA HYBRID สำหรับความจุถังแก๊ส LPG ของ TOYOTA JPN TAXI อยู่ที่ 52 ลิตร เคลมตัวเลขอัตราการบริโภคเชื้อเพลิงก๊าซ LPG อยู่ที่ 19.4 กิโลเมตร/ลิตร (มาตรฐาน JC08)
สำหรับการเข้าออกจากตัวรถ เป็นจุดเด่นของ TOYOTA JPN TAXI ที่ผสมผสานประตูทั้ง 2 แบบเอาไว้ในรถคันเดียว ด้านซ้ายจะเข้าออกได้จากประตูสไลด์ เปิด-ปิดด้วยระบบไฟฟ้า เปิดสไลด์กว้างถึง 720 มิลลิเมตร และสูง 1,300 มิลลิเมตร ส่วนระยะจากพื้นถนนถึงพื้นตัวรถอยู่ที่ 320 มิลลิเมตร พื้นห้องโดยสารจะเรียบไม่มีขอบ บริเวณชายล่างประตูก็เรียบเช่นกัน ทำให้สะดวกต่อการวางสะพานเชื่อม สำหรับการเข็นรถ Wheelchair เข้าออกตัวรถได้ง่าย คนขับสามารถสั่งเปิด-ปิดประตูได้ จากสวิตช์ควบคุมบริเวณคนขับ ส่วนด้านขวา จะเป็นประตูบานสวิงเหมือนรถปกติ (ญี่ปุ่นรถพวงมาลัยขวา ขับรถชิดซ้าย เช่นเดียวกับประเทศไทย)
ในห้องโดยสารตำแหน่งข้างผู้ขับขี่ เป็นเบาะปรับระดับด้วยมือ พื้นที่เหนือศรีษะมีเยอะเช่นกัน เบาะนั่งจะแบ่งแยกสี โดยฝั่งคนขับเป็นเบาะสีดำ ส่วนฝั่งผู้โดยสารเป็นสีน้ำตาล แต่ด้วยวัฒนธรรมรถบริการสาธารณะ หรือแท็กซี่ญี่ปุ่น จะมีผ้าสีขาว หรือสีอื่นๆหุ้มทับอีกที เพื่อความสะอาด มีการถอดออกไปซัก และเปลี่ยนใหม่อยู่เสมอ เบาะหน้าหุ้มด้วยหนังนั่งสบายกำลังดี อาจจะไม่โอบกระชับตัวผู้โดยสารเท่าไรนัก ตัวเบาะออกแนวแน่นๆ แข็งๆ แต่ก็ไม่ได้ทำให้รู้สึกว่านั่งไม่สบายตัว

หลังจากสาระแนกับตัวรถ แงะ แกะ ลูบคลำกันไปเป็นที่เรียบร้อย ก็ถึงเวลาลองนั่ง TOYOTA JPN TAXI แบบจริงจังกันซักที โดยครั้งนี้ทางโตโยต้าจัดให้พิเศษ แบบไม่ให้คาใจ สำหรับสื่อมวลชนในกลุ่มประเทศเอเซียอาคเนย์ Southeast Asia ได้นั่ง TOYOTA JPN TAXI รุ่นใหม่จากโรงแรม Keio Plaza ในโตเกียว ไปยังสถานที่จัดงาน Pacifico Yokohama รวมระยะทางประมาณ 40 กิโลเมตร...โปรดติดตามตอนต่อไป ได้โปรดเถอะ